ผ้าสีเพี้ยน!!! โทษใครดี “จะโทษดินจะโทษน้ำ จะโทษเดือนและดาว กับเรื่องราวที่ปวดร้าว ที่เธอมาทำแล้วหนีไป” ก่อนที่เราจะมาโทษใครดีเรามาดูกันดีกว่าว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่เวลาเราเห็นสีผ้าเพี้ยนแตกต่างออกไป หรือเมื่อเราติดผ้าม่านที่บ้านเสร็จแล้ว ปรากฎว่าสีมันไม่เหมือนอย่างที่คิดไว้ เรามาดูกันว่ามีปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้เรา เห็นสีผ้าเพี้ยนไปจากความเป็นจริงมีอะไรบ้าง
- สีเพี้ยนจากการดูสีผ้าผ่านหน้าจอ เช่น อุปกรณ์ถ่ายรูป, การดูสีผ้าผ่านจอมือถือ
- สีเพี้ยนจากการมองเห็นสีผ้าจริง เช่น การมองเห็นในบรรยากาศแสงที่ต่างกัน, มุมมอง และ ระยะการมอง, ขนาดของชิ้นผ้า, ใส่แว่นที่มีแลนส์แบบพิเศษ
- สีเพี้ยนจากตัวผ้าเอง เช่น ชนิดของเส้นด้าย, ชนิดของผ้า, ผ้าที่มีส่วนผสมของเส้นใยธรรมชาติ, ผ้าต่างรอบการผลิต, การซีดจางจากการโดนแสงแดดเป็นเวลานาน, การซีดจางจากการซัก
- การดูสีผ้าผ่านหน้าจอ ในปัจจุบันการเลือกซื้อของ ต่างมาอยู่ในระบบออนไลน์โดยส่วนใหญ่ ซึ่งธุรกิจการขายผ้าก็เข้ามาอยู่ในระบบนี้เช่นกัน แต่ด้วยเรื่องของสีผ้าก็เป็นปัญหาที่ตามมาด้วยเช่นกัน เพราะด้วยเหตุนี้เรามาดูกันว่าปัจจัยที่ทำให้สีเพี๊ยนเวลาเราดูตัวอย่างผ้า ผ่านการดูผ่านหน้าจอแสดงผลต่างๆ มีอะไรบ้าง
- อุปกรณ์นำเข้ารูป เมื่อพูดถึงอุปกรณ์ในการเก็บรูปภาพในการทำตัวอย่างเพื่อนำเสนอนั้น ก็จะมีอยู่ 2 อย่างด้วยกันคือ การถ่ายรูป และ การใช้เครื่องสแกน ทั้งสองอย่างนี้มีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกันคือ
- การถ่ายรูป เป็นที่นิยมสูง เห็นภาพได้ค่อนข้างเหมือนจริง สามารถถ่ายผืนใหญ่เท่าไหร่ก็ได้ ข้อเสียคือมีความเพี้ยนของสีสูง ประกอบด้วยหลายปัจจัยมาก เช่น ถ่ายแสงจากธรรมชาติ หรือถ่ายแสงจากหลอดไฟซึ่งก็มีหลากหลายชนิด, มุมการถ่าย, ชนิดกล้องที่ถ่ายไม่ว่าจะเป็นกล้องถ่ายรูป หรือกล้องมือถือที่หลากหลายยี่ห้อมาก เป็นต้น และที่สำคัญเราไม่สามารถจับสัดส่วนภาพจริงได้ว่า ลายผ้าที่ถ่ายนี้ มีขนาดจริงเท่าไหร่
- การสแกนผ้า เป็นที่นิยมในการทำตัวอย่างผ้าแบบสมัยใหม่ เพราะสามารถเห็นดีเทลของเนื้อผ้าชัดเจน สามารถเทียบสัดส่วนของลายผ้าได้จริง มีความเท่ากันของแสงทั่วทั้งผืน ข้อเสียคือ ไม่สามารถสแกนผ้าชิ้นใหญ่ได้เต็มหน้าผ้า ซึ่งปกติหน้าเครื่องจะมีอยู่ประมาณขนาด A4 เท่านั้น และปัญหาอีกอย่างคือ ถ้าผ้านั้นเป็นแบบที่มีการทอพิเศษ เช่น ผ้ากำมะหยี่ Velvet ที่เป็นลักษณะเป็นขนๆ เล็กๆ เวลาสแกนก็จะเกินความเพี้ยนสูง หรือผ้าที่มีลักษณะของเส้นด้ายมันเงา ในการสแกนก็จะไม่เห็นมิติของความเงาเท่ากับการถ่ายรูปจริงในลักษณะผ้าที่มีการเข้าลอน ที่จะเห็นความเงาของเนื้อผ้าได้อย่างชัดเจน
- อุปกรณ์นำเข้ารูป เมื่อพูดถึงอุปกรณ์ในการเก็บรูปภาพในการทำตัวอย่างเพื่อนำเสนอนั้น ก็จะมีอยู่ 2 อย่างด้วยกันคือ การถ่ายรูป และ การใช้เครื่องสแกน ทั้งสองอย่างนี้มีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกันคือ
- จอแสดงผล แน่นนอนว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการดูในมือถือ และการดูในหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีปัจจัยทั้ง รูปแบบของชนิดจอ LED, OLED ฯลฯ และยี้ห้อของจอชนิดนั้นๆ เช่น หน้าจอของมือถือยี่ห้อหนึ่งเทียบกับมือถืออีกยี่ห้อหนึ่ง ในการเปิดรูปเดียวกันก็จะแสดงรูปสีสันที่ไม่เท่ากัน 100% ขึ้นอยู่กับ อุปกรณ์, ซอฟแวร์ และระบบการประมวนผลของยี้ห้อนั้นๆ ด้วย เช่นบางยี่ห้ออาจดูติดเหลือง หรือติดแดง เป็นต้น และที่สำคัญที่สุดอันที่ถกเถียงกันอย่างมาก คือโดยปกติแล้วมือถือหลายคนชอบปรับระดับความสว่างต่ำๆในการใช้งานปกตินั้นอาจไม่ส่งผลอะไรมาก แต่การดูสีผ้านั้นจำเป็นต้องปรับให้ความสว่างสูงสุด เพื่อความถูกต้องในการเห็นสี เพราะสามารถ เกิดขึ้นได้ว่าผ้าที่เห็นนั้นเป็นสีขาว หรือสีเทาอ่อนกันแน่ การปรับความสว่างหน้าจอที่ไม่เพียงพอจะทำให้การตัดสินใจพลาดได้
2. การมองเห็นสีผ้าจริง แม้ว่าเราจะเห็นตัวอย่างผ้าของจริงแล้วก็ตาม แต่ความเพี้ยนของสีผ้าก็ยังสามารถเกินขึ้นอีกหลายปัจจัยดังนี้
- การมองเห็นในบรรยากาศแสงที่ต่างกัน เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมากที่คนทั่วไปไม่ทันสังเกตุ หรือไม่ได้ให้ความสำคัญ เพราะการที่เราเลือกผ้าจากตัวอย่างที่เห็น โดยเลือกผ่านบรรยากาศไฟที่ต่างกันสีผ้าก็จะต่างกันด้วย เช่น เราเข้าไปที่ร้านผ้าม่านเลือกตัวอย่างผ้าที่เห็นโดยร้านม่านนั้น ติดไฟวอร์มไวท์ หรือไฟที่ออกสีเหลืองนั้นเอง โดยเราเลือกผ้าในบรรยากาศแสงนั้น และสรุปได้ผ้าที่ต้องการสีเป็นสีน้ำตาลเทาๆ แต่ปรากฎว่านำมาติดตั้งที่บ้านเป็นสีเทา เนื่องจากห้องที่ติดเป็นหลอดไฟแบบเดย์ไลท์ สามารถอ่านข้อมูลส่วนนี้เพิ่มเติม
- มุมมอง และระยะการมองผ้า ผ้าเป็นวัสดุที่มีมิติการมองเห็นที่เมื่อเรามองต่างมุมกันออกไป ก็จะส่งผลให้เห็นลักษณะความเข้มอ่อน ความเงาด้าน หรือการปรากฎลวดลายที่ชัดเจน หรือหายไปกับระยะการมองได้เช่นกัน เช่น การตัดสินใจซื้อผ้าจากตัวอย่างผ้าที่วางอยู่บนโต๊ะ ซึ่งมองห่างจากระยะสายตา ไม่เกิน 1 เมตร แต่เมื่อเราติดตั้งผ้าม่านนั้นจริง ซึ่งระยะ การมองเห็นผ้าม่านในระยะใช้งานจริง มากกว่า 2 เมตร ซึ่งลักษณะของเท็กเจอร์ที่ปรากฎในการมองระยะใกล้ ก็อาจกลายเป็นอีกลักษณะหนึ่ง หรือหายไป เป็นเพียงลายเรียบๆ ก็เป็นได้
- ขนาดของชิ้นผ้า ปกติเมื่อเราเลือกผ้าจากเล่มตัวอย่าง ชิ้นเล็กๆ กับผ้าม่านจริงเราจะรู้สึกว่าผ้านั้นสีเข้มกว่า หรือ สดกว่าที่เราจำได้ว่าเลือกตอนอยู่ที่ร้านผ้าม่าน เป็นเพราะสายตาของเราตอนเลือกผ้าจากเล่ม มีสีอื่นๆ มากวนสายตาด้วย และส่วนใหญ่ผ้าจะติดอยู่กับกระดาษสีขาว ซึ่งตัวกระดาษสีขาวนี้เอง ก็เป็นส่วนหนึ่งของการรบกวนการมองเห็นเช่นกัน ตัวอย่างรูปด้านล่าง
- รูป A สี่เหลี่ยมสีเทาตรงกลาง เมื่อเทียบกับสีเทาอ่อนทางซ้ายมือ ก็จะเห็นเป็นสีเทานั้นเข้มขึ้น ในทางกลับกัน เมื่อเทียบกับสีเทาด้านขวามือ ก็จะดูเป็นสีเทาอ่อนลง
- รูป B สี่เหลี่ยมสีแดงตรงกลาง เมื่อเทียบสีแดงทางซ้ายมือ ก็จะดูสีแดงนั้นสดเข้มขึ้น ในทางกลับกัน เมื่อเทียบกับรูปสีแดงด้านขวา ก็จะเห็นเป็นสีแดงซีดจางลงนั้นเอง
- ใส่แว่นที่มีเลนส์แบบพิเศษ อาจเป็นปัญหาของการสื่อสารกันระหว่างบุคคลที่สามารถเกิดขึ้นได้ โดย ไม่ทันคิดมาก่อน ปกติคนที่สายตาสั้นหรือยาว ใส่แว่นเลนส์แบบ ธรรมดา ย่อบาง และมัลติโค้ตตัดแสงสะท้อนทั่วไป ก็ไม่เป็นปัญหาในการมองเห็น แต่มีเลนส์ชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมสูงในปัจจุบันคือเลนส์แบบ มัลติโค้ตตัดแสงสีฟ้า, บลูคัท หรือ บลูบล็อก แล้วแต่ชื่อทางการค้าจะเรียก ซึ่งเป็นเลนส์ฮอตฮิตกับคนที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์มากๆ หรือแม้กระทั่งคนที่ชอบเล่นโทรศัพท์เป็นเวลานานๆ ด้วยคุณสมบัติของ การตัดแสงสีฟ้า ที่เชื่อว่า แสงสีฟ้านั้นเป็นอันตรายต่อสายตา ซึ่งด้วยคุณสมบัตินั้นเอง จึงทำให้คนที่ใส่แว่นชนิดตัดแสงสีฟ้า มองเห็นทุกอย่างโดยตัดแสงสีฟ้าออกไปส่วนหนึ่ง แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทุกอย่างที่มองเห็น จะมีความอมเหลืองเล็กน้อย โดยถ้าเราใช้ชีวิตประจำวัน ทำงาน ขับรถ เล่นเกมส์ การตัดแสงสีฟ้านี้จะไม่ส่งผลใดๆ ต่อการใช้ชีวิตปกติ แต่เมื่อเราต้องการเลือกผ้า เลือกสีทาบ้าน หรือสื่อสารด้านสีกับบุคคลอื่นจะเกิดความเพี้ยนขึ้นอย่างแน่นอน ยกตัวอย่างง่ายที่สุดคือ เมื่อคนใส่แว่นแบบตัดแสงสีฟ้า มองกระดาษ A4 สีขาว ก็จะเห็นสีเป็นสีขาวนวลๆ มาทางสีครีมนิดๆ แต่เมื่อคุณถอดแว่นโดยมองด้วยตาเปล่าสีขาวที่คุณเห็น ก็จะไม่อมเหลือง เป็นสีขาวปกติทั่วไป นั้นเอง ฉะนั้น ถ้าต้องการเห็นสีที่แท้จริงในการเลือกสี แล้วสื่อสารกับบุคคลอื่นๆ เราไม่ควรใส่แว่นที่มีการตัดแสงสีฟ้า เพราะบุคคลอื่นๆ นั้นจะมองเห็นสีที่ไม่เหมือนกันกับคุณ แต่ทว่า ถ้าคุณเป็นคนเลือกเองใช้เอง มองเอง โดยใช้แว่นเลนส์ตัดแสงฟ้านี้ในชีวิตประจำวัน ก็สามารถใส่เลือกผ้านั้นได้เลย ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง
3. จากตัวผ้าเอง สุดท้ายแล้วเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ คือการสีเพี้ยนจากกระบวนการผลิตเอง เรามาดูกันดีกว่าว่ามาปัจจัยอะไรบ้าง
- ชนิดของเส้นด้าย มีผลต่อการมองเห็นสีที่เพี้ยน จะเห็นได้ว่าในเส้นใยธรรมชาติส่วนใหญ่มีผิวที่ไม่เรียบมีเท็กเจอร์ มีผลทำให้การสะท้อนแสงของเส้นใยแตกต่างกัน เช่นตัวอย่างเส้นใยของผ้าฝ้ายที่เป็นลักษณะหน้าตัดแบบเมล็ดถั่วและมีความบิดเป็นเกลียว เมื่อนำทอเป็นผืนผ้า ก็จะมีลักษณะผิวโดยรวมดูด้าน ไม่เงา ไม่ส่งผลต่อการเพี้ยนในการมองเห็นมากนัก ผิดกับผ้าที่มาจากเส้นใยไหม ที่หน้าตัดเป็นรูปสามเหลี่ยม ซึ่งสามารถสะท้อนแสงได้ดี รวมไปถึงเส้นใยสังเคราะห์ อย่างโพลีเอสเตอร์ซึ่งเป็นเส้นใยประดิษฐ์ ที่มีลักษณะการฉีดออกมาเป็นเส้น มีผิวเรียบทรงกระบอก ก็สามารถสะท้อนแสงได้มาก เช่นกัน เมื่อเรานำเส้นใยเหล่านี้มาทอเป็นผ้าผืน จะทำให้มีความเงาขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความเงานี้ส่งผลทำให้เราสามารถเห็นผ้าสีแดงตามรูปด้านล่างนี้มีน้ำหนักของสี ที่ทั้งสว่างขึ้นเมื่อกระทบแสง และมืดลงเมื่อไม่ได้รับแสง เกิดเป็นมิติแสงเงาที่มากกว่าผ้าที่เป็นเนื้อฝ้ายโดยทั่วไป ฉะนั้นในการเลือกผ้าม่าน หรือผ้าบุโซฟา เราควรเห็นเนื้อผ้าจริง และลองจับผืนผ้าให้เกิดลอน เพื่อให้เห็นมิติของแสงเงาที่เกิดจากผ้านั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง
- ชนิดของผ้า ในผ้าเนื้อกำมะหยี่ หรือ Velvet เป็นผ้าที่มีการทอแบบพิเศษ ซึ่งด้วยการทอแบบพิเศษนี้เองทำให้เกิดความเพี้ยนสีเกิดขึ้น ยกตัวอย่างผ้ากำมะหยี่สีแดง เมื่อเรามองจากมุมหนึ่งจะเห็นเป็นสีแดงปกติ แต่เมื่อเราเปลี่ยนมุมในการมอง เราก็อาจมองเห็นสีแดงนั้นเข้มขึ้นอย่างมากในมุมที่ต่างออกไป เพราะเนื้อผ้าชนิดนี้ มีการทอที่มีเส้นขนของผ้าที่ตั้งขึ้น ซึ่งทำให้มีมุมมองของผ้าบางส่วนเห็น ในส่วนของขนผ้าที่ตั้งขึ้น และบางส่วนล้มลง ฉะนั้นผ้ากำมะหยี่นี้ จึงเป็นผ้าที่มีมิติ ในการมองเห็นที่ไม่เท่ากันอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น ในการเลือกผ้าม่าน หรือผ้าบุโซฟา เนื้อกำมะหยี่กับผู้อื่น ซึ่งยืนมองผ้าผืนเดียวกัน ในภาวะแสงเดียวกัน แต่ยืนมองคนละมุม ซึ่งสามารถเกิดความเข้าใจผิดว่า ผ้าผืนสีแดงนี้สีแดงเข้มเกินไป แต่ในขณะที่เราเห็นว่าสีแดงนี้พอดีแล้ว
- ผ้าที่มีส่วนผสมของเส้นใยธรรมชาติ ทั้งฝ้าย ลินิน ขนสัตว์ ไหม ซึ่งวัสดุธรรมชาติที่นิยมนำมาทอผ้าม่านโดยส่วนใหญ่ คือ Cotton หรือฝ้าย, ลินิน ซึ่งเป็นเส้นใยจากพืช (Cellulose) ซึ่งแน่นอนว่า ภูมิประเทศ สภาพอากาศ, ฤดูการเก็บเกี่ยว, กระบวนการผลิตจากไร่ สู่การผลิตจากเส้นใยไปถึงเส้นด้าย ที่ต่างกันก็ส่งผลต่อการย้อมติดสีของผืนผ้านั้นๆ ซึ่งมีโอกาสที่ไม่เท่ากัน 100% อย่างแน่นอน
- ผ้าต่างรอบการผลิต เป็นเรื่องปกติว่าการย้อมสี ถึงแม้จะในระดับโรงงานก็ตาม การเพื้ยนของสีก็สามารถเกิดขึ้นได้ ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น อุณหภูมิการย้อม คุณภาพน้ำ ปริมาณน้ำต่อสีย้อม ปริมาณน้ำต่อน้ำหนักผ้า ในโรงงานระดับคุณภาพจะควบคุมปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ได้ แต่ก็ให้ค่าความเพี้ยนได้ไม่เกิน 5% ถือว่ารับได้
- ผ้าที่ดูแดดเลีย หรือผ้าที่ซีดจางจากการโดนแสงแดดเป็นเวลานาน Colorfastness of sunlight เป็นปกติของผ้าทั่วไปที่ใช้ในที่พักอาศัย ไม่ว่าจะเป็น ผ้าม่าน ผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ ก็มีการซีดจางของสีเป็นปกติ ถ้าเราเป็นไปโดนแสงแดดโดยตรง โดยประมาณ 3-6 เดือนก็จะเริ่มเห็นผลเมื่อนำไปเทียบกับบริเวณที่ไม่โดดแสงแดด แต่ก็จะมีผ้าที่ออกแบบมาเฉพาะในการใช้กลางแจง หรือเอาท์ดอร์ ผ้าเกรดเอาท์ดอร์ดังกล่าวจะมีความสามารถในการทนก็การซีดจางของสีได้ดีกว่าผ้าทั่วไป
- ผ้าที่ผ่านการซัก หรือผ้าที่ซีดจางจากการซัก Colorfastness of washing การซักนับเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ว่า จะทำให้สีผ้าซีดจางลง ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะการใช้สารฟอกขาว รวมในการซักก็จะเป็นส่วนที่ทำให้เกิดการซีดของของสีเพิ่มากขึ้น
จากบทความด้านบน คงเห็นกันแล้วว่ามีหลายปัจจัยมาก ที่ส่งผลให้ผ้าสีเพี้ยน เพราะฉะนั้นก่อนที่คุณจะตัดสินใจเลือกผ้าสีนั้นๆ ที่คุณโปรดปราน อย่าลืมคิดถึงปัจจัยต่างๆ ที่เราฝากไว้ด้วยนะจ๊ะ ด้วยรัก