fbpx

ย้อมก่อนทอ หรือทอก่อนย้อมดี?

การย้อมเส้นด้าย (Yarn Dyed) และการย้อมผืนผ้า (Piece Dyed) เป็นสองวิธีทั่วไปที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อเพิ่มสีสันให้กับเนื้อผ้า ความแตกต่างคือ

  • การย้อมเส้นด้าย (Yarn Dyed): เป็นการย้อมในที่เป็นเส้นด้าย ก่อนที่จะทอ (Woven) หรือถัก (Knitted) เป็นผ้า การย้อมเส้นด้ายช่วยให้ได้ลวดลายและการออกแบบที่สลับซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากสามารถนำเส้นด้ายที่มีสีต่างกันมาทอหรือถักเข้าด้วยกันเพื่อสร้างลวดลายที่ต้องการได้ ผ้าที่ได้จะมีสีที่สดใส และติดทนนาน เนื่องจากสีย้อมจะแทรกซึมเข้าไปในเส้นด้ายทั้งหมด
  • การย้อมผืนผ้า (Piece Dyed): วิธีนี้เกี่ยวข้องกับการย้อมผ้าทั้งผืนหลังจากที่ทอหรือถักแล้ว วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายกว่าและคุ้มค่ากว่า แต่จะจำกัดประเภทของรูปแบบที่สามารถทำได้ ผ้าที่ได้อาจมีสีที่สดใสน้อยกว่าเล็กน้อย เนื่องจากสีย้อมไม่ได้ซึมผ่านเส้นใยได้ลึกเท่าการย้อมเส้นด้าย

โดยสรุป การย้อมเส้นด้ายเหมาะสำหรับการสร้างลวดลายและการออกแบบที่สลับซับซ้อน ในขณะที่การย้อมเป็นผืนจะคุ้มค่ากว่า และมีประสิทธิภาพสำหรับผ้าสีเรียบๆ

การปรากฏของสีและลวดลายบนบนผ้าไม่ว่าจะเป็นผ้าม่าน หรือผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ที่เราเห็นสวยงามนั้น แท้จริงแล้วมีการให้สีได้หลายแบบ ดังนี้

ย้อมสีก่อนการทอ (Yarn Dyed)

เป็นกระบวนการให้สี โดยการนำเส้นด้ายไปย้อมสีก่อนการทอขึ้นเป็นผืนผ้า

  • ข้อดีคือ สามารถเก็บชุดสีด้ายเตรียมไว้สำหรับการทอได้ก่อน เมื่อมีความต้องการ สามารถสั่งผลิต หรือขึ้นตัวอย่างผ้าได้ง่ายกว่า สามารถให้สีผ้าได้มากสูงสุดถึง 12 สีในการทอหนึ่งผืน แต่ในความเป็นจริงแล้ว มักใช้ชนิดเส้นด้ายและสีที่ต่างกันประมาณ 3 แบบเท่านั้น และในขณะที่กำลังทอสามารถเห็นสีจริงในขณะที่ทอได้เลย นอกจากนั้นยังเก็บสต็อกชุดสีเส้นด้ายแค่ชุดเดียว แต่สามารถเปลี่ยนรูปแบบการทอ หรือลวดลายต่างกันได้หลายรูปแบบ
  • ข้อเสียคือ ต้องเก็บสต็อกชุดสีจำนวนมาก ในแต่ละชุดด้ายที่แตกต่างกัน

ทอก่อนย้อมสี (Piece Dyed)

เป็นกระบวนการให้สีหลังจากการทอผ้าเสร็จแล้ว จากนั้นจึงนำไปย้อมสี แต่ถ้าผ้าหนึ่งผืนมีความต้องการมากกว่าหนึ่งสีจะต้องทำอย่างไร คำตอบคือต้องใช้คุณสมบัติของเส้นด้ายที่กินสีแตกต่างกันนั้นเอง เช่น ต้องการผ้าที่มี 2 สีโดยเป็นผ้า Piece Dyed ในผืนผ้าต้องประกอบไปด้วยเส้นใย 2 ชนิด เช่น ฝ้าย และโพลีเอสเตอร์ ซึ่งสีที่สามารย้อมฝ้ายก็จะไม่ติดเส้นใยโพลีเอสเตอร์ และในทางกลับกันสีที่ย้อมโพลีเอสเตอร์ก็จะไม่ติดฝ้ายเช่นเดียวกัน ด้วยเทคนิคนี้จึงสามารถทำให้ผ้า สามารถมี 2 สีได้

  • ข้อดีคือ สามารถทอผ้าดิบเก็บไว้จำนวนครั้งละมากๆ แล้วจึงตัดส่วนไปย้อมได้ตามคำสั่งของลูกค้าที่มีความต้องการชุดสีที่แตกต่างกันไป
  • ข้อเสียคือ ไม่สามารถมองเห็นสีจริง ได้ในขณะทอ ต้องรอจนกว่าการย้อมจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งกระบวนการย้อมต้องมีความละเอียดเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้สีด่าง หรือสีช่วงต้นม้วนและปลายม้วนออกมาไม่เสมอกัน

ในขบวนการการย้อมสิ่งทอจริงๆ แล้วมีขั้นตอน ที่ก่อนและหลังจากบทความข้างต้น ดังนี้

  1. Fiber dyeing ย้อมเส้นใย
  2. Yarn dyeing การย้อมเส้นด้าย
  3. Fabric dyeing การย้อมผืนผ้า
  4. Garment dyeing การย้อมเสื้อผ้าสำเร็จ

นอกจาก 2 กระบวนการดังกล่าวแล้วยังมีการให้สีลงบนผืนผ้าโดยการพิมพ์อีกด้วย

การพิมพ์สีลงไปในผ้า หรือที่เรียกว่าผ้าพิมพ์ (Printed Fabric)

ซึ่งผ้าพิมพ์นี้เป็นผ้าที่เกิดการให้สีหลังจากการทอเหมือนข้อข้างต้นแต่จะไม่ได้นำผ้าทั้งผืนลงไปย้อมในหม้อย้อม แต่จะใช้กระบวนการพิมพ์ซึ่งมีหลากหลาย ดังนี้

  • การพิมพ์แบบดิจิตอล (Digital Print) เปรียบเทียบง่ายๆ คือการพิมพ์ผ้าแบบ Inkjet ตรงลงบนตัวผ้าเลย การพิมพ์แบบนี้เป็นรูปแบบสมัยใหม่ได้สีสันมากตามต้องการในกระบวนการเดียว ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เพราะต้นทุนในการพิมพ์ต่อหลายังสูงกว่าการพิมพ์ชนิดอื่น
  • การพิมพ์แบบฮีททรานเฟอร์ (Heat Transfer) หรือที่เรียกว่าการพิมพ์แบบรีดร้อน เป็นการพิมพ์แบบลงบนกระดาษก่อน แล้วจึงนำกระดาษนั้นประกบกับผ้าแล้วกดทับด้วยแรงกดและความร้อน ลายพิมพ์ดังกล่าวจะระเหิดมาติดลงบนผืนผ้าแทน การพิมพ์แบบนี้เป็นรูปแบบสมัยใหม่ได้สีสันมากตามต้องการในกระบวนการเดียว เป็นการพิมพ์ที่นิยมมากในอุตสาหกรรมปัจจุบัน
  • การพิมพ์ฉลุลายผ้า (Silk Screen) หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า การพิมพ์ซิลค์สกรีน เป็นการทำแบบลงบนบล็อกผ้าไหม ซึ่งในสมัยก่อนจะใช้ผ้าไหมจริงๆ เพราะเส้นไหมมีความละเอียด ทำให้ช่องว่างมีความถี่เหมาะกับการทำบล็อกสกรีน แต่ในปัจจุบันใช้เส้นใยสังเคราะห์แทน โดยใช้หลักการที่ว่า จะสร้างลวดลายในบล็อกสกรีนโดยให้ลวดลายที่ต้องการโปร่ง และให้ส่วนที่ไม่ต้องการเกิดลวดลายทึบ แล้วจึงนำไปทาบกับผืนผ้า จากนั้นจึงใช้ยางปาดสีให้ทะลุลงไปติดกับผ้าจนเกิดลวดลายขึ้นมา หนึ่งบล็อกต่อการพิมพ์ 1 สี ในอุตสาหกรรมใหญ่ที่พิมพ์ผ้าแบบนี้อยู่ ได้แก่ ผ้าโขมพัสตร์ เป็นต้น
  • การพิมพ์แบบโรตารี่ (Rotary Printing) เป็นการพิมพ์โดยแบบลวดลายจะปรากฏอยู่ที่ลูกกลิ้งทรงกระบอกยาวเท่ากับหน้าผ้าที่จะพิมพ์ แล้วลูกกลิ้งจะหมุนตัวไปรับหมึกสีที่จะพิมพ์ แต่ละสี ต่อหนึ่งลูกกลิ้ง กดและถ่ายทอดสีลงบนผืนผ้า การพิมพ์แบบนี้เป็นการพิมพ์ที่นิยมมากในอุตสาหกรรมปัจจุบัน

ไม่ว่าผ้านั้นๆ จะสร้างลวดลายด้วยกรรมวิธีใดๆ ก็ตาม ประเด็นความสำคัญคือความพึงพอใจของคุณที่มีต่อผ้าตัวนั้นๆ เป็นหลักนะจ๊ะ


เฟอร์นิเจอร์ตัวนี้ ใช้ผ้าเท่าไร ?

อยากเปลี่ยนผ้าโซฟาตัวโปรด ว่าแต่ เฟอร์ตัวนี้มันใช้กี่หลากันนะ?

ก่อนที่เราจะรู้ว่าเฟอร์นิเจอร์ตัวโปรดนั้น ใช้ผ้าในการเปลี่ยนเท่าไร เรามาดูวิธีวัดกันก่อน

    • A B ความกว้าง-ยาว ของพนักผิงด้านใน
    • C D ความกว้าง-ยาว ของพนักผิงด้านนอก
    • E F ความกว้าง-ยาว ของพนักวางแขนด้านใน
    • H G ความกว้าง-ยาว ของพนักวางด้านนอก
    • I J ความกว้าง-ยาว ของเบาะรองนั้ง
    • K L ความกว้าง-ยาว ของขอบหน้า

ตัวอย่าง จำนวนการใช้ผ้าของ เฟอร์นิเจอร์ในรูปแบบต่างๆ เช่น เก้าอี้นั้งรับประทานอาหาร, อาร์มแชร์, วิงค์แชร์, โซฟา 1-3 ที่นั่ง จะสังเกตุได้ว่า รูปแบบของการบุเฟอร์นิเจอร์ที่ต่างกันมีผลต่อจำนวนผ้า เช่น การบุแบบดึงดุมจะใช้ผ้าเปลืองกว่าการบุธรรมดาพอสมควร

 

PVC vs PU ต่างกันอย่างกันอย่างไร ?

Synthetic Leather

Synthetic Leather วัสดุสังเคราะห์ทดแทนหนัง หรือที่เรียกติดปากว่า “หนังเทียม” นอกจากหนังแท้  (Natural Leather) คือ หนังสัตว์ เช่น หนังจิงโจ้, หนังวัว, หนังจระเข้ ฯลฯ หนังสังเคราะห์ คือวัสดุที่เกิดจากการสังเคราะห์ขึ้นมาด้วยกระบวนการทางเคมี หรือเรียกว่า โพลิเมอร์ (Polymer) ซึ่งคือการนำเอาพลาสติกที่มีผลิตขึ้นมาจากสารประกอบที่มีอยู่ในธรรมชาติมาผ่านกระบวนการสังเคราะห์ที่เรียกว่า โพลิเมอร์ไรเซชั่น (Polymerization) ทำให้ได้พลาสติกตัวใหม่ที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไป จนเกิดเป็นพลาสติกที่มีเยอะแยะมาก เช่น PU (Poly Uretane), PVC (Polyvinylchloride), Microfiber (พลาสติกเส้นเล็กที่มีขนาดเส้นเล็กๆ เรียงตัวกัน) นอกจากนั้นยังมีหนังผสม (Composite Leather) ซึ่งเกิดจากชั้นล่างเป็นวัสดุจากผ้าสิ่งทอและเททับด้วยโพลิเมอร์ที่มีส่วนผสมหลายอย่างกดทับเป็นลายหนัง

ในวงการผ้าเพื่อการตกแต่งที่อยู่อาศัย หรือเรียกง่ายๆ ว่า ผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ก็มักนิยมใช้มาก คือ

  1. PU (Poly Urethane)
    • ข้อดีคือ ให้ความรู้สึกเหมือนหนังแท้ทั้งการสัมผัส และการมองเห็น ความนุ่มเหมือนหนังแท้ ทำความสะอาดง่าย กันน้ำด้วยตัววัสดุเองอยู่แล้ว
    • ข้อเสียคือ อายุการใช้งานสั้นกว่า PVC โดยอายุการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 3-5 ปี แล้วแต่คุณภาพของสินค้า และสภาพสิ่งแวดล้อมด้วย เมื่อเสื่อมสภาพจะเกิดการหลุดร่อนออกจากชั้นผ้าด้านหลัง สังเกตเห็นเป็น การบวมนูนออกมาเป็นผิว PU บางๆ คล้ายกับการติดสติกเกอร์แล้วไม่เรียบเนียน ทำให้เกิดฟองอากาศ
  2. PVC (Polyvinylchloride)
    • ข้อดีคือ ให้ความรู้สึกเหมือนหนังแท้ทั้งการสัมผัส และการมองเห็น แต่อายุการใช้งานที่คงทนกว่า PU โดยอายุการใช้งานเฉลี่ยคือ 3-7 ปี แล้วแต่คุณภาพของสินค้า และสภาพสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังทำความสะอาดง่าย กันน้ำด้วยตัววัสดุเองอยู่แล้ว
    • ข้อเสียคือ จะมีผิวสัมผัสที่แข็งกว่า PU เล็กน้อย เมื่อเสื่อมสภาพจะเกิดการแข็งและแตกระแหง เหมือนดินแห้งแตก หลุดแตกออกมาเป็นชิ้นๆ
  3. Microfiber
    • ข้อดีคือ ให้ความรู้สึกเหมือนหนังแท้ แต่ผิวสัมผัสนุ่มสบายเหมือนผ้า ถ่ายเทอากาศดีกว่าทั้งสองตัวที่กล่าวมา เนื่องจากมีความเป็นเนื้อผ้าที่สร้างลายเหมือนหนัง สามารถตกแต่งพิเศษเพื่อการสะท้อนน้ำได้ และสามารถถอดไปซักทำความสะอาดได้ ในกรณีที่เป็นผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบมาเพื่อถอดซักได้
    • ข้อเสียคือ เนื่องด้วยวัสดุมันก็ยังเป็นผ้า เพราะฉะนั้นยังสามารถเปื้อนง่ายกว่าตัว PU, PVC แต่การเสื่อมสภาพของผ้า จะน้อยกว่า นอกจากจะเกิดการขาดของผ้าจากแรงกระทำ จากการใช้งานเป็นเวลานานๆ

“Thank you for choosing to use synthetic leather. Your decision helps reduce animal cruelty and supports sustainable” Moo-moo

สามารถดูตัวอย่างสินค้าได้ที่

HOSPITAL CURTAIN TRIM จำเป็นอย่างไร ?

ม่านโปร่งตาข่ายต่อผ้า สำหรับผ้าม่านโรงพยาบาล

ผ้าม่านสำหรับโรงพยาบาล (Cubicle Curtain or Hospital Curtain) เป็นม่านที่ต้องการความเป็นส่วนตัว เช่น เวลาฉีดยา หรือการรักษาอาการที่ต้องการความเป็นส่วนตัว แต่ยังคงต้องการการถ่ายเทอากาศที่ดี ม่านโรงพยาบาลส่วนใหญ่มี 2 แบบคือ

  1. แบบม่านที่ลดระดับความสูงจากระดับฝ้าลงมาเป็นช่องถ่ายเทอากาศ โดยใช้รางม่านห้อยต่ำลงมา ข้อดีของม่านขนิดนี้คือ สามารถใช้ผ้าม่านปกติเพื่อการปิดบังสายตาได้เลย ข้อเสียคือ ต้องมีการติดตั้งร่างม่านแบบพิเศษที่ห้อยลงมาจากระดับฝ้าให้เป็นช่องถ่ายเทอากาศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่แพงขี้น ความแข็งแรงคงทน และความสวยงามน้อยกว่าแบบที่สอง
  2. แบบม่านที่ติดระดับฝ้าปกติ แต่มีการตัดต่อผ้าตาข่าย เพื่อช่วยระบายอากาศ ข้อดีคือสามารถติดตั้งรางม่านแบบปกติ ที่มีความแข็งแรงคงทน และความสวยงามมากกว่า ไม่มีเส้นรางรกสายตา แต่ต้องใช้การต่อม่านตาข่ายหรือม่านโปร่งด้านบนเพื่อการระบายอากาศแทน

และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัย ผ้าโรงพยาบาลควรมีคุณสมบัติกันไฟด้วย

สามารถดูสินค้าของเราได้ที่ : http://www.nitas-tessile.com/product/90019-brickwork/

ขายเป็นหลา? วิธีคำนวณหลา

อยากได้ผ้าเป็นเมตร แต่ร้านขายผ้าไปหลา โอ้ย! คำนวณยังไงดีเนี่ย หลายๆ คนมักประสบปัญหาเวลาไปซื้อผ้าแล้วงงว่าผ้าหนึ่งหลากับหนึ่งเมตรมันต่างกันอย่างไร วันนี้ Nitas Tessile จะพาทุกคนมาคำนวณหลาเป็นเมตรแบบง่ายๆ กัน

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักการวัดซึ่งที่นิยมใช้ในการวัดผ้ามี 2 ระบบคือระบบเมตริก (Metric system) และระบบอังกฤษ (Imperial system)

ระบบเมตริก (Metric System)

เป็นระบบการวัดที่มีพื้นฐานมาจากเลขฐานสิบ

  • 10 มิลลิเมตร = 1 เซนติเมตร
  • 100 เซนติเมตร = 1 เมตร
  • 1,000 เมตร = 1 กิโลเมตร

ระบบอังกฤษ (Imperial System)

เป็นหน่วยวัดโบราณที่ใช้กันมาตั้งแต่ศริสต์ศตวรรษที่ 12 ยังเป็นที่นิยมแพร่หลายในหลายประเทศ

  • 8 หุน = 1 นิ้ว
  • 12 นิ้ว = 1 ฟุต
  • 3 ฟุต = 1 หลา
  • 1,760 หลา = 1 ไมล์

แล้วผ้า 1 หลา เท่ากับกี่เมตร?

ผ้าเมตร คือ ความยาวผ้า 1 เมตร เท่ากับ 100 เซนติเมตร
ผ้าหลา คือ ความยาวผ้า 1 หลา เท่ากัน 90 เซนติเมตร
การคิดผ้าหลาเป็นผ้าเมตรง่ายๆ คือ ผ้า 1 หลา เท่ากับ 0.9 เมตร

ส่วนใหญ่ร้านผ้าม่านให้เราซื้อผ้าในจำนวนขั้นต่ำ 1 เมตร แต่ความแตกต่างระหว่าง 1 เมตร กับ 1 หลา นั้นน้อยมากไม่ถึง 10 เซนติเมตร แต่หากซื้อผ้าจำนวนมากความแตกต่างระหว่างจำนวนเมตรและจำนวนหลาจะยิ่งมากขึ้น เช่น ถ้าซื้อผ้าจำนวน 100 หลา จะได้ผ้าเพียงแค่ 90 เมตร ซึ่งมีความแตกต่างเกือบ 10 หลา


ถ้าอยากได้ผ้า 1 เมตร ต้องซื้อกี่หลา? หากเราต้องการผ้าเป็นเมตร แต่ทางร้านขายด้วยระบบหลา เราสามารถเปลี่ยนหลาเป็นเมตรได้ง่ายๆ นั่นคือ

การคำนวณตามที่กล่าวมา ทำให้เราสามารถคำนวณเมตรเป็นหลาได้ง่ายๆ หากเป็นจำนวนมากๆ เราสามารถใช้โทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องคิดเลขจากทางร้านช่วยคำนวณ แต่ที่สำคัญคือความถูกต้อง หากเราซื้อผ้าจำนวนน้อยอาจจะดูต่างกันไม่มาก แต่หากซื้อจำนวนมาก ความแตกต่างมีมากมายเลยที่เดียว



“ผ้าหน้ากว้าง Wide Width Fabric” ดีอย่างไร ?

“ไร้รอยต่อ ทอเต็มผืน” ไม่ใช่สโลแกนของยี่ห้อที่นอนแต่อย่างใด แต่เป็นคุณสมบัติของผ้าหน้ากว้าง หรือ Wide Width Fabric ผ้าหน้ากว้างคืออะไร? แล้วมีดีอย่างไร? บทความที้จะพาทุกคนไปรู้จักกับผ้าหน้ากว้างกัน พร้อมแล้ว ไปกันเลย ..

ผ้าหน้ากว้าง (Wide Width Fabric) คือผ้าที่มีความกว้างของหน้าผ้ากว้างกว่าปกติคือ โดยความกว้างจะอยู่ที่ 2.80 เมตร ไปจนถึง 3.20 เมตร ด้วยความกว้างของหน้าผ้าขนาดดังกล่าว จึงนิยมใช้ด้านกว้างของหน้าผ้าเป็นความสูง ไม่ต้องต่อผ้าในแนวตั้ง ทำให้ไม่เกิดรอยต่อ จึงสวยงามมากกว่า

นอกจากนั้นผ้าหน้ากว้างยังทำให้งบประมาณโดยรวมถูกกว่า แม้ว่าราคาต่อหลาจะแพงกว่า แต่ผ้าหน้ากว้างจะใช้จำนวนชิ้นผ้าที่น้อยกว่า และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตัดเย็บ

ผ้าหน้ากว้างเหมาะสำหรับท่านที่ไม่ต้องการให้ผ้าม่านเกิดรอยต่อ และต้องการคุมงบประมาณของการตกแต่งบ้าน

คุณสามารถทราบถึงคุณสมบัติดังกล่าวของผ้า NITAS TESSILE ได้ง่ายๆ จากการสังเกตุสัญลักษณ์ ดังรูปด้านล่างนี้

ดูเนื้อผ้าหน้ากว้ทั้งหมดที่นี้ คลิก!!!

ดูเล่มตัวอย่างและแผ่นพับ ผ้าหน้ากว้างได้ที่นี้ คลิก!!!


ลายผ้า (Pattern) ที่นิยมใช้แต่งห้องที่คนรักบ้านต้องชอบ

“ลายแบบเรียบๆ ก็สวย ลายดอกไม้ก็ดี ลายไหนก็ถูกใจไปหมด ..’ ตอนเลือกซื้อผ้าม่านหรือผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ หลายคนมักจะเกิดอาการลังเลว่าจะเลือกลวดลายบนผ้าอย่างไรดีให้เหมาะกับห้อง วันนี้เราจะมาแนะนำให้รู้จักลวดลายต่างๆ บนผ้ากัน ว่าแต่ละลวดลายลักษณะเด่นอย่างไร และเหมาะกับห้องแบบไหน เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจในการซื้อผ้าม่านหรือผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ของคุณ ไปกันเลย ..

 1. ลวดลายเรียบ (Plain Pattern)

คือผ้าที่ไม่มีลวดลายใดเลย มีเพียงสีพื้นเท่านั้น
เหมาะสำหรับห้อง : สามารถใช้แต่งห้องได้ทุกสไตล์ ทำให้ห้องดูเรียบง่าย


2. ลวดลายพื้นผิว (Texture Pattern)

เป็นลายพื้นผิวที่เกิดจากการถักหรือการทอผ้า
เหมาะสำหรับห้อง : ห้องทุกสไตล์เช่นกัน แต่ทำให้ห้องมีมิติเพิ่มขึ้นมากกว่า


3. ลวดลายธรรมชาติ (Natural Pattern)

3.1 ลวดลายดอกไม้ (Floral Pattern) เป็นลวดลายที่นำรูปร่าง หรือรูปทรงของดอกไมเในธรรมชาติ มาถัก ทอ หรือพิมพ์ลายบนผืนผ้าให้เกิดเป็นลวดลาย
เหมาะสำหรับห้อง : ห้องที่ต้องการเข้าใกล้ความเป็นธรรมชาติ มีความ Feminine สูง สร้างบรรยาการศที่สดชื่นให้กับห้อง และเป็นลายหนึ่งที่เป็นที่ชื่นชอบของสาวๆ

3.2 ลวดลายใบไม้ (Leaves Pattern) เป็นลวดลายที่นำรูปร่าง ใบไม้รูปทรงต่างๆ มีออกแบบเป็นแพทเทิร์น
เหมาะสำหรับห้อง : ห้องที่ต้องการเข้าใกล้ความเป็นธรรมชาติ สร้างบรรยาการศที่รื่นรมย์ให้กับห้อง


 4. กลุ่มลวดลายคลาสสิค (Classic Pattern)

เป็นการเรียกโดยรวมของลายในยุคสมัยในอดีตที่ยังคงเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ลายคลาสสิคเหมาะกับห้องที่แต่งเพื่อความหรูหรา ความคลาสสิค ความวินเทจ แสดงถึงรสนิยมของเจ้าของ ตัวอย่างของลายคลาสสิค อาทิเช่น

4.1 ลวดลายหลุยส์ (Louis Pattern) คือลวดลายที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะแนวตะวันตก ที่มีความงดงามหรูหรา ชดช้อย เป็นลวดลายที่ประดิษฐ์จากธรรมชาติ พืชพรรณ ใบไม้ ดอกไม้ ทางตะวันตก สร้างสรรค์เป็นลวดลายขึ้นมา โดยลวดลายเหล่านี้จะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ภูมิภาคของยุโรป โดยลายแนวนี้จะมีความชัดเจนที่คนไทยส่วนใหญ่เห็นจะเป็นลวดลายถ่ายทอดออกมาทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของฝรั่งเศส ที่โดดเด่นสุดคือ พระราชวังแวร์ซายส์ (Versailles) ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่จึงเรียกลวดลายเหล่านี้รวมๆ ว่า ‘ลายหลุยส์’ ตามชื่อกษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักฝรั่งเศสในสมัยนั้น แต่ที่จริงแล้วถ้าเราจะสื่อสารกับชาวต่างชาติแบบสากลจะเรียกลวดลายเหล่านี้ว่า ลายคลาสสิค หรือเรียกว่า Design of intertwined sprays ในภาษาอังกฤษ  เพราะหากเราเรียกว่าลายหลุยส์ เขาจะนึกถึงลาย โมโนแกรมของแบรนด์กระเป๋าชื่อดังแทน
เหมาะสำหรับห้อง : ห้องที่ต้องการความโดดเด่น แสดงถึงความหรูหรา และอลังการ โดยส่วนมากจะใช้สีทองในการตกแต่ง

4.2 ลวดลายดามาส (Damask Pattern) มาจากชื่อของเมืองดามัสกัส ประเทศซีเรีย เมืองท่าสำคัญบนเส้นทางสายไหม ลายดามาสโดดเด่นด้วยลวดลายที่มีลักษณะเป็นประดิษฐ์ดัดแปลงของพืชพรรณ ธรรมชาติให้สวยงาม เช่น ใบอะแคนทัส (Acanthus) หรือจริงก็คือใบผักชี และใบต้นฝิ่น ลักษณะสังเกตุของลายดามาสคือจะมีลักษณะ เป็นกลุ่มลวดลายเป็นดวง ส่วนใหญ่จะอยู่ในทรงรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด (Marquise Shape) กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งผืนผ้า มีจังหวะการเรียงตัวที่เท่าๆ กัน อย่างงดงาม
เหมาะสำหรับห้อง : ห้องที่ต้องการความโดดเด่น แสดงถึงความหรูหรา และอลังการ

4.3 ลวดลายสโคล์ (Scroll Pattern) หรือลายขด หรือ ลายเคลือเถา (Bunch of vine) หรือมีลักษณะคล้ายกับแผ่นกระดาษที่ถูกม้วน โดดเด่นด้วยลวดลายของพืชพรรณ ก้านใบ ดอกไม้ที่เสมือนไม้เลื้อย เถาองุ่นที่แตกยอด เกาะเกี่ยว เลี้ยวพันกัน วนกันเป็นเถาวัลย์ หรือขดคล้ายก้นหอย ลายที่ดัดแปลงธรรมชาติที่มีรสนิยมที่หรูหร่า ในรูปแบบที่น้อย
เหมาะสำหรับห้อง : ห้องที่ต้องการความโดดเด่น เคลื่อนไหว อ่อนโยนแต่ ให้ความหรูหรา  และดู Feminine มากขึ้น

4.4 ลวดลายเพสลีย์ (Paisley Pattern) หรือลายลูกผักชี หรือคนไทยบางคนก็เรียกลายลูกน้ำ คนอินเดียก็ว่าเป็นลายมาจากมะม่วง คนฝรั่งเศสเรียกว่าเป็นลายจากลูกอ๊อด บ้างก็เรียกว่าลายจากแตงกวาดองเปอร์เซีย (Persian Pickle)

โดยแท้จริงแล้วลายนี้มีต้นกำเนิดมาจากแถบเปอร์เซีย ในชื่อ Buta หรือ Boteh ที่แปลว่าดอกไม้ รวมกับต้นสนไซเปรสที่โน้มกิ่งตามลม ซึ่งได้เข้ามาถึงในอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม และเป็นที่ต้องการมาในสมัยนั้น จนกระทั่งชาวเมืองเพสลีย์ ประเทศสก็อตแลนด์เริ่มทอลายผ้าแบบนี้บ้างเพื่อตอบสนองความต้องการที่สูงในสมัยนั้น และด้วยเทคโนโลยีการทอที่ล้ำหน้า สามารถทอแบบแจ็คการ์ด (Jacquard) ที่สามารถทอสลับสีเส้นด้าย ได้ถึง 15 สี ทำให้ผ้าลายเพสลีย์สวยงาม และมีลูกเล่นของการให้สีสวยงามขึ้นไปอีก เป็นที่นิยมเรื่อยมา ทำให้ผ้าลาย Boteh ภาษาถิ่นเกิดก็ได้มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า ลายเพสลีย์ ตามชื่อเมืองนั้นเอง ลายที่โดดเด่นคล้ายหยดน้ำมีปลายโค้งมนที่เรียงร้อยกัน เป็นแพทเทิร์นที่ไม่มีรูปแบบตายตัว
เหมาะสำหรับห้อง : เหมาะเป็นผ้าชิ้นไม่ใหญ่มาก เช่น หมอน หรือนำไปบุอาร์มแชร์ตัวเก่ง เพิ่มบุคคลิคให้ห้อง ไม่นิยมใช้เป็นชิ้นใหญ่ในบ้าน อย่างผ้าม่านเพราะมีลวดลายเยอะ เลอะไปจนทำให้ดูสับสบ ดหมะกับห้องสไตล์วินเทจแบบผู้ดีอังกฤษ ที่ต้องการความความโดดเด่นของลวดลาย สร้างบรรยากาศโดยร่วมของห้องมีกลิ่นอายความเป็นอังกฤษที่ปนด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมพื้นถิ่นจากตะวันออกกลาง

4.5 ลวดลายเทรลลิสส์ (Trellis Pattern) หรือลายโครงเถาไม้เลื้อย ได้รับแรงบันดาลใจมาจากลายโครงไม้ โครงเหล็ก หรือตาข่าย สำหรับเพาะปลูกไม้เลื้อย โดดเด่นด้วยลวดลายที่ประกอบกันอย่างประณีตจากเส้นต่างๆ ลักษณะการสังเกตุจะเป็นลายที่มาจากการสานกันแนวทะแยง ตัดกันเป็นทรงสีเหลี่ยมข้ามหลามตัด ทั้งเส้นตรง และเส้นโค้ง ดูอ่อนช้อยงดงาม
เหมาะสำหรับห้อง : สามารถตกแต่งห้องได้ทุกสไตล์ เพื่อความสวยงามแบบคลาสสิคให้กับห้อง นิยมใช้ตกแต่งห้องแนวหรูหราแบบร่วมสมัย (Contemporary Luxury)

4.6 ลวดลายดอกลิลลี่   (Fleur De Lis Pattern) อ่านออกเสียง เฟลอร์ เดอ ลีส เป็นภาษาฝรั่งเศส เป็นสัญลักษณ์ที่แปลงมาจากดอกลิลลี่หรือดอกไอริสที่ใช้ในการตกแต่ง และอาจจะเป็นได้ทั้งสัญลักษณ์ทางการเมือง ทางการสืบเชื้อสาย ทางศิลปะ ทางการเป็นตรา และโดยเฉพาะในการใช้เป็นตราประจำตระกูล ปัจจุบันมีการนำมาใช้เป็นลวดลายสำหรับผ้ามากมาย โดดเด่นด้วย
เหมาะสำหรับห้อง : ห้องที่สไตล์คลาสสิค ที่ต้องการให้ดูเป็นห้องชนชั้นสูง และแสดงถึงอำนาจชนชั้นการปกครอง แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยเป็นที่นิยมเพราะว่าเป็นหนึ่งในลายที่ในยุคล่าอณานิคมของฝรั่งเศสได้ใช้ลายนี้ตีตราลงไปที่ตัวทาสชาวแอฟริกาในสมัยนั้น ฉะนั้นจึงเป็นลายที่ละเอียดอ่อนในความรู้สึกในบางสังคมนั้นเอง

4.7 ลวดลาย ตวล เดอ ฌุย (Toile de Jouy Pattern) หรือที่เรียกว่า ‘Jouy Print’ เป็นภาพสะท้อนเรื่องราวให้เห็นวิถีชีวิตของฝรั่งเศส ในช่วงศตวรรษที่ 18 ออกแบบด้วยการพิมพ์ลวดลายของสถาปัตยกรรม หรือบุคคลในช่วงศตวรรษที่ 18 ลงบนผ้าลินิน หรือผ้าฝ้าย
เหมาะสำหรับห้อง : ห้องที่ตกแต่งสไตล์วินเทจ ช่วยให้ห้องดูมีเรื่องราว มีชีวิตชีวามากขึ้น


5. ลวดลายแอ็บสแตร็กส์ (Abstract Pattern)

มีที่มาจากศิลปะนามธรรม (Abstract Art) โดดเด่นด้วยลวดลายที่มีความเป็นอิสระทั้งรูปร่าง เส้น และเป็นอิสระจากรูปร่างตามธรรมชาติ ไม่มีรูปร่างตายตัว
เหมาะสำหรับห้อง : ห้องที่ต้องการสื่อถึงรสนิยมทางศิลปะชั้นสูง เข้าถึงยาก น่าค้นหา ให้ความเป็นตัวตนของเจ้าของห้อง ไม่ซ้ำใคร


 6. กลุ่มลวดลายเรขาคณิต (Geometric Pattern)

6.1 ลวดลายเรขาคณิต (Geometric Pattern) เป็นลวดลายแรกๆ ที่มนุษย์ใช้ตกแต่งผ้า โดดเด่นด้วยลวดลายที่เกิดจากประกอบกันของเส้น หรือรูปร่างจนเกิดเป็นลวดลายเรขาคณิต เช่น สามเหลี่ยม หลายเหลี่ยม วงกลม เป็นต้น
เหมาะสำหรับห้อง : ห้องสไตล์โมเดิร์นที่ต้องการให้ห้องดูสดใสมีชีวิตชีวา ลดทอนความเรียบเกินไปของสไตล์โมเดิร์น

6.2. ลวดลายทาง (Stripe Pattern) เป็นลายที่มีความโดดเด่นด้วยการสลับแถบสีที่ต่างสี หรือต่างโทนกัน โดยแถบสีอาจจะเท่ากัน หรือไม่เท่ากันก็ได้
เหมาะสำหรับห้อง : ห้องที่ต้องการพรางเตี๊ยของเพดานห้อง ทำให้ห้องดูสูงโปร่งขึ้น สื่อถึงความตรงไปตรงมา เป็นทางการ เป็นระเบียบ และยังทำให้ห้องดูภูมิฐานน่าเชื่อถือมากขึ้นอีกด้วย

6.3 ลวดลายเชฟรอน (Chevron Pattern) หรือที่เรียกติดปากว่า ลายซิกแซก  จะเรียงลวดลายเหมือนกับลายเฮอร์ริ่งโบน แตกต่างกันบริเวณรอยต่อที่ลายเชฟรอนจะประกบกันพอดี
เหมาะสำหรับห้อง :
ความเหมาะสมของลายเชฟรอนจะเหมือนกับลายเฮอร์ริ่งโบน คือเหมาะกับห้องสมัยใหม่ที่ต้องการกลิ่นอายของความคลาสสิค ไม่เหมือนใคร นอกจากนั้นยังช่วยลวงตาให้ห้องดูกว้างขึ้นอีกด้วย แต่ไม่เหมาะสำหรับการใช้ในพื้นที่ใหญ่ๆ เพราะจะทำให้ลายตาได้

6.4 ลวดลายเฮอร์ริ่งโบน (Herringbone Pattern) หรือลายก้างปลา โดดเด่นด้วยการจัดเรียงลวดลายอันประณีตสลับทิศทางกันเหมือนก้างปลา มีให้เลือกหลากหลายแบบ อาทิ ลายก้างปลาแบบเดี่ยว (Single Herringbone) ลายก้างปลาแบบเส้นคู่ (Double Herringbone) มีความคล้ายคลึงกับลายเชฟรอน
เหมาะสำหรับห้อง : ห้องสมัยใหม่ที่ต้องการกลิ่นอายของความคลาสสิค ไม่เหมือนใคร นอกจากนั้นยังช่วยลวงตาให้ห้องดูกว้างขึ้นอีกด้วย แต่ไม่เหมาะสำหรับการใช้ในพื้นที่ใหญ่ๆ เพราะจะทำให้ลายตาได้

6.5 ลวดลายโพลก้าดอท (Polka Dot Pattern) ผู้ให้กำเนิดลายโพลก้าดอทคือ ศิลปินชาวญี่ปุ่น ชื่อยาโยอิ คุซามะ  (Yayoi Kusama)  โดยเธอคิดลายนี้ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ โดดเด่นด้วยลวดลายวงกลมทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก ที่เท่ากัน หรือไม่เท่ากัน ซ้ำๆ กันทั้งผืนผ้า
เหมาะสำหรับห้อง : เหมาะสำหรับห้องทุกสไตล์ ที่ต้องการความสดใส และสนุกสนานให้กับห้อง


7. กลุ่มลวดลายสก็อต (Scottish pattern)

ลายที่คนไทยอาจจะคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ใกล้ตัวอย่างผ้าขาวม้า แต่ความจริงแล้วที่คนไทยส่วนใหญ่ชอบเรียกรวมว่าลายสก็อต มีลายอะไรบ้างมาดูกันเลย
7. 1 ลวดลายตาราง (Check Pattern) เป็นลายที่โดดเด่นด้วยการเรียงช่องสี่เหลี่ยมที่มีสีต่างกัน หรือโทนที่ต่างกัน โดยทุกช่องจะเท่ากัน
เหมาะสำหรับห้อง : เป็นลายที่เหมาะกับห้องสไตล์ คลาสิกโมเดิร์น สร้างบรรยากาศแบบยุคกลาง เข็มแข็ง น่าเชื่อถือ แต่แฝงไปด้วยความหรูหรา

7.2 ลวดลายกิงแฮม (Gingham Pattern) เป็นลวดลายที่เป็นที่นิยมมากในอังกฤษ ช่วงกลางศตวรรษที่ 18 คนส่วนมากจะสับสนระหว่างลายตาราง (Check Pattern) และลายกิงแฮม โดยความแตกต่างของทั้งสองลายนี้ ที่เห็นได้ชัดคือลายกิงแฮมจะมีบางช่องที่เกิดการผสมกันระหว่างสีของด้ายทั้งสองจากกระบวนการทอ
เหมาะสำหรับห้อง : เป็นลายที่เหมาะกับห้องทุกสไตล์การตกแต่ง ทำให้ห้องมีกลิ่นอายของอังกฤษ สก็อตแลนด์

7.3 ลวดลายทาร์ทัน (Tartan Pattern) หรือที่คนไทยก็เรียกว่าลายสก็อตต์ (Scott Pattern) ชาวอเมริกันเรียกว่า ลายแพลด (Plaid) เป็นลายผ้าที่โด่งดังมาก จนไม่มีใครไม่รู้จัก เกิดขึ้นตั้งแต่สองพันปีก่อน โดยชนเผ่าทาร์ทัน โดดเด่นด้วยเส้นด้ายสีสันต่างๆ สานไขว้ไปมา ลวดลายคล้ายกับตารางหมากรุก
เหมาะสำหรับห้อง : เป็นลายที่เหมาะกับห้องทุกสไตล์การตกแต่ง ทำให้ห้องมีกลิ่นอายของอังกฤษ สก็อตแลนด์

7.4 ลวดลายสาน (Basketweave Pattern) เป็นลวดลายที่คุ้นเคยกันดี ในงานหัตถกรรมจักสาน โดดเด่นด้วยลวดลายแถบสองสี หรือสองโทน สานสลับไขว้กันทำให้เกิดลวดลายสานที่หลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับกระบวนการในการสาน เช่น  ลายขัด ลายทแยง ลายขด หรือลายอิสระ เป็นต้น
เหมาะสำหรับห้อง : เหมาะสำหรับห้องทุกสไตล์ ที่ต้องการกลิ่นอายความเป็นพื้นถิ่น (Traditional)

7.5 ลวดลายมาดาส (Madras Pattern) หรือที่คนไทยรู้จักว่า ‘ลายผ้าขาวม้า’ มีต้นกำเนิดที่เมืองเจนไน ประเทศอินเดีย โดยชื่อดั้งเดิมมีชื่อว่าลายเจนไน ตามชื่อเมืองกำเนิด เป็นที่นิยมอย่างมากเนื่องจากโดดเด่นด้วยสีสันสดใส ส่วนมากจะปรากฏสีโทนสว่าง เช่น สีส้ม สีชม หรือสีเหลือง ทำให้นึกถึงฤดูร้อน
เหมาะสำหรับห้อง : เหมาะสำหรับห้องที่ต้องการเข้าถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น

7.6 ลวดลายเกลน (Glen) หรือลายตารางของเจ้าชายเวลส์ (Prince of Wales Check) ที่มาของลวดลายนี้เกิดมาจากความนิยมของเจ้าฟ้าชายเอ็ดเวิร์ดที่ 8 แห่งเวลส์ โดดเด่นด้วยการใช้ลวดลายที่ต่างๆ เช่นลายฮาวด์ทูธ ใส่ไว้ในช่องสี่เหลี่ยมของลายตารางหมากรุก (Check Pattern) จึงเรียกว่า ลายตารางของเจ้าชายเวลส์
เหมาะสำหรับห้อง : เหมาะสำหรับห้องที่ต้องการความสบาย และผ่อนคลายแก่ผู้อยู่อาศัย มีกลิ่มอายของความเป็นอังกฤษ

7.7 ลวดลายวินโดวเพลน (Windowpane) เป็นลวดลายที่โดดเด่นด้วยการคาดเส้นทำให้เกิดช่องสีเหลี่ยมเหมือนช่องหน้าต่าง
เหมาะสำหรับห้อง : เหมาะสำหรับห้องที่ต้องการความสบาย และผ่อนคลายแก่ผู้อยู่อาศัย

7.8 ลวดลายแท็ทเทอร์ซอล  (Tattersall Pattern) มีต้นกำเนิดมาจากลอนดอน ลายนี้คือการนำลายวินโดว์เพลนสองลายมาประกบกัน ทำให้เกิดเส้นสองสีที่ซ้อนกันอยู่
เหมาะสำหรับห้อง : เหมาะสำหรับห้องที่ต้องการความสบาย และผ่อนคลายแก่ผู้อยู่อาศัย

7.9 ลวดลายฮาวส์ทูธ (Houndstooth Pattern) เป็นผ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูงเกิดจากการคิดค้นการให้ลายอย่างไรไม่ให้น่าเบื่อในรูปแบบสก็อตแบบตั้งเดิมจึงเกิดการพัฒนาขึ้น ต้นกำเนิดมาจากชาวพื้นเมืองของสก็อตแลนด์ โดดเด่นด้วยลักษณะเป็นแฉกสี่เหลี่ยมคล้ายกับดาวกระจายสลับกัน 2 สี คล้ายฟันของสุนัข สีที่เป็นสีที่นิยมนำมาทำแพทเทิร์นได้หลากหลายคือ สีขาวสลับดำ และเป็นลายหนึ่งที่มีอายุเก่าแก่ แต่ยังคงความร่วมสมัย ซึ่งในวงการแฟชั่นลายยฮาวส์ทูธนี้ ก็เป็นลายที่ได้รับนิยมสูงสุดลายหนึ่งเช่นกัน
เหมาะสำหรับห้อง : เหมาะกับห้องโมเดิร์น คลาสสิค เปรี๊ยว ใช้เป็นผ้าบุอาร?มแชร์ตัวโปรด หรือหมอนตกแต่ง เพื่อต้องการเรียกร้องความน่าสนใจให้กับห้องได้ดีมากลายหนึ่ง ทำให้มีกลิ่นอายของนำสมัยป่นด้วยความคลาสิค แสดงรสนิยมอันมีระดับของผู้อยู่อาศัยได้ดีเลยที่เดียว

7.10  ลวดลายอาร์ไจล์ (Argyle Pattern) มีต้นกำเนิดจากเมืองอาไจล์ ทางตะวันตกของประเทศสก็อตแลนด์ ในช่วงศตวรรษที่ 17 โดดเด่นด้วยลวดลายที่มีลักษณะคล้ายสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เรียงซ้อนกันในแนวเฉียงเพื่อให้เกิดมิติของการเคลื่อนไหว โดยอาจจะเป็นแถวยาว หรือตลอดทั้งผืนผ้าก็ได้ ลายนี้กำเนิดมาจากลายจากการถัก (Knitting) ไม่ใช่การทอ (Weaving) เพราะการทอจะมีชุดได้เพียงได้พุ่ง แนวตั้ง และได้ยื่นแนวนอน เท่านั้น การจะทอเป็นลายสี่เหลี่ยมทะแยง หรือสี่เหลี่ยมข้ามหลามตัดแบบนี้ค่อยข้างยากมากในตอนนั้น และลายนี้ที่เราเห็นกันอย่างคุ้นเคยคือลายที่อยู่ในเสื้อเสื้อ Sweater และเสื้อกัก ที่ส่วมทับเสื้อเชิ๊ตตามหนังฝรั่งนั้นเอง
เหมาะสำหรับห้อง : เหมาะสำหรับห้องทุกคลาสสิก ส่วนใหญ่นิยมนำมาเป็นลายตกแต่ง เช่น หมอนต่างๆ เพื่อเพิ่มความคลาสิก การตกแต่งที่ให้อารมณ์บ้านอยู่ในเขตประเทศอบอุ่น ให้กลิ่นอายความเป็นผู้ดีอังกฤษแบบวินเทจให้กับห้องนั้นๆ


8. ลวดลายพราง (Camouflage Pattern)

 มีต้นกำเนิดมาจากลายบนเครื่องแบบของทหาร ที่ใช้เพื่ออำพรางสายตาเมื่ออยู่ในที่มืด หรืออยู่ในป่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 โดดเด่นด้วยลวดลายอิสระลักษณะคล้ายใบไม้ที่ทับถมกัน โดยมากจะใช้สีในธรรมชาติ อย่างสีเขียว สีน้ำตาล หรือสีดำ
เหมาะสำหรับห้อง : เป็นลายที่เหมาะกับห้องต้องการแนว Adventure ทำให้ห้องเหมือนอยู่ในป่า ออกแคมป์ เสริมความเป็นธรรมชาติ และความดูเป็น Masculine ดูเข้มแข็ง


9. ลวดลายมัดหมี่ (Ikat Pattern)

ลายมัดหมี่เป็นลวดลายที่ไม่มีรูปแบบตายตัว โดยลวดลายจะเป็นลายเอกลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่น ความโดดเด่นของลายมัดหมี่คือการขึ้นลวดลายด้วยการมันและย้อมสีลงไปที่เส้นด้ายก่อนการนำไปทอเมื่อมีการสืบด้ายยืนอีกครั้ง ลวยลายที่สร้างขึ้นแต่แรกนั้นก็จะมีความเคลื่อนไม่เท่ากันเป็นเส้นๆ จึงเกิดลักษณะเฉพาะของผ้าชนิดนี้ขึ้นมา กล่าวคือใช้การมัดเป็นช่วงลายเพื่อกันสีที่ไม่ต้องการ ส่วนใหญ่จะย้อมสีอ่อนก่อน แล้วรอบถัดๆ ไปจึงยอมสีเข้มขึ้น ในปัจจุบันบางท้องถิ่นใช้วิธีการเต้มสีวาดลายลงไปเป็นลวดลายเลยโดยไม่ต้องผ่านการมัดและย้อมหลายๆ รอบเพื่อให้เกิดลวดลายขึ้นมา คนแถบอุษาคเนย์ นิยมใช้เทคนิคนี้ที่ ด้ายพุ่ง ส่วนชาวตะวันตกเรียกใช้เทคนิคนี้กับ ด้ายพุ่ง ทำให้เกิดลักษณะที่ต่างกันของลวดลาย และจึงนำไปทอตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเอง
เหมาะสำหรับห้อง : เป็นลายที่เหมาะกับห้องทุกสไตล์การตกแต่งที่ต้องการกลิ่นอายในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปตามท้องถิ่นนั้น เช่น หากอยากได้ห้องสไตล์ไทยโมเดิร์น อาจจะใช้ผ้าลายมัดหมี่ของไทยเข้าไปเข้าผสมกับการตกแต่งสไตล์โมเดิร์น เป็นต้น


10. ลวดลายการ์ตูน และลายกราฟิก (Cartoon/Gaphic Pattern)

ลายการ์ตูนเป็นลายที่นำคาแรคเตอร์จากการ์ตูนที่โด่งดัง หรือการ์ตูนรูปคน สัตว์ สิ่งของ ลวยกราฟิกที่ตัดทอนจากสิ่งต่างๆรอบๆตัว ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นทั้งลายทอ และการพิมพ์ลงบนผ้าที่เป็นที่นิยมมากกว่าเพราะให้สีสันได้มากกว่า โดดเด่นด้วยคาแรคเตอร์ของตัวการ์ตูนต่างๆ ให้สนุกไปกับจินตนาการตามช่วงวัย
เหมาะสำหรับห้อง : เหมาะกับห้องเด็ก หรือห้องของผู้ใหญ่ที่ต้องการสร้างบรรยากาศความสนุกสนานก็ได้เช่นกัน


9 สไตล์ การจัดวางหมอนบนโซฟาให้ดูดี

        หลายท่านคงมีปัญหาในการจัดวางหมอนเพื่อการส่งเสริมบรรยากาศของห้อง บนโซฟาตัวโปรดของท่าน จะจัดวางอย่างไรให้ดูดี ดูสวยงาม และดูมีสไตล์ วันนี้เราขอแนะนำการจัดวางหมอนแบบง่ายๆ ในสไตล์ต่างๆ ให้ทุกท่านได้เลือกสรร เพื่อนำไปใช้ เช่น การจัดวางหมอนในห้องรับแขก โซฟาภายในบ้าน หรือล็อบบี้ต้อนรับของโรงแรมต่างๆ ท่านจะได้พบกับรูปแบบการจัดวางถึง 9 แบบ 9 สไตล์ ด้วยกัน งั้นเราไปดูวิธีการจัดกันเลยดีกว่า ..


แบบที่ 1 Slope Style

เหมาะสำหรับห้องที่มีโซฟา 2-3 ที่นั่ง ใช้หมอน 2 ใบ ที่มีขนาดเล็กใหญ่ต่างกัน โดยมากหมอนใบเล็กจะมีขนาด 18″ เป็นสีอ่อนกว่าตัวโซฟา และหมอนใบใหญ่จะมีขนาด 20″ ที่มีสีสันใกล้เคียงกับตัวโซฟา สำหรับผู้ที่ไม่ชอบมีหมอนตกแต่งเยอะ การวางหมอนไม่สมดุลกันทั้งสองข้างให้ความรู้สึกที่เรียบง่าย เป็นกันเอง  ดูเป็นมิตร และผ่อนคลาย


แบบที่ 2  Triangle Style

เหมาะสำหรับห้องที่มีโซฟา 2-3 ที่นั่ง ใช้หมอน 3 ใบ ที่มีขนาดเล็กใหญ่ต่างกัน โดยมากหมอนใบเล็กจะมีขนาด 18″ เป็นสีอ่อนกว่าตัวโซฟา และหมอนใบใหญ่จะมีขนาด 20″ ที่มีสีสันใกล้เคียงกับตัวโซฟา และหมอนเล็กใบยาวขนาด 18″x 12″ การวางหมอนไม่สมดุลแบบทรงสามเหลี่ยม ให้ความรู้สึกที่เรียบง่ายแต่ดูมีสไตล์ ส่งเสริมบรรยากาศห้องให้ดูมีความทันสมัยยิ่งขึ้น


แบบที่ 3  Balance Style

เหมาะสำหรับห้องที่มีโซฟา 3 ที่นั่ง ใช้หมอน 4 ใบ ที่มีขนาดเล็กใหญ่ต่างกัน โดยมากหมอนใบเล็กจะมีขนาด 18″ เป็นสีอ่อนกว่าตัวโซฟา และหมอนใบใหญ่จะมี 20″  ที่มีสีสันใกล้เคียงกับตัวโซฟา  การวางหมอนแบบสมดุลกันทั้งซ้ายและขวา โดยให้หมอนมีขนาดเล็กอยู่ข้างหน้าหมอนที่มีขนาดใหญ่กว่า ให้ความรู้สึกเรียบง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็ดูเป็นทางการ เหมาะสำหรับการวางในห้องนั่งเล่นที่เป็นห้องรับแขกในห้องเดียวกัน ส่งเสริมบรรยากาศห้องให้ดูมีความทันสมัย และหรูหรา


แบบที่ 4  Mirror Style

เหมาะสำหรับห้องที่มีโซฟา 3 ที่นั่ง ใช้หมอน 4 ใบ ที่มีขนาดเล็กใหญ่ต่างกัน โดยมากหมอนใบเล็กจะมีขนาด 18″ เป็นสีอ่อนกว่าตัวโซฟา และหมอนใบใหญ่จะมีขนาด 20″  ที่มีสีสันใกล้เคียงกับตัวโซฟา การวางหมอนแบบสมดุลกันทั้งซ้ายและขวา โดยหมอนใบใหญ่จะจัดวางด้านหลัง และหมอนใบเล็กวางด้านหน้า ซึ่งคล้ายกับการวางแบบ Balance Style แต่จะมีการสลับของน้ำหนักสีของหมอน ให้ความรู้สึกเรียบง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็ดูเป็นทางการและยังดูแปลกตาสร้างความรู้สึกที่แปลกใหม่ เหมาะสำหรับการวางในห้องนั่งเล่นที่ใช้เป็นห้องรับแขกในห้องเดียวกัน ส่งเสริมบรรยากาศห้องให้ดูมีความทันสมัย แปลกตา และหรูหรา


แบบที่ 5  Dali Style

เหมาะสำหรับห้องที่มีโซฟา 3 ที่นั่ง ใช้หมอน 4 ใบ ที่มีขนาดเล็กใหญ่ต่างกัน โดยมากหมอนใบเล็กจะมีขนาด 18″ เป็นสีอ่อนกว่าตัวโซฟา และหมอนใบใหญ่จะมีขนาด 20″ ที่มีสีสันใกล้เคียงกับตัวโซฟา และใบหมอนเล็กยาวขนาด 18″x 12″ ที่มีสีสันแตกต่างกันออกไป การวางหมอนแบบสมดุลที่ไม่สมดุลกัน คือทั้งซ้ายและขวามีจำนวนหมอนที่เท่ากัน แต่ขนาดของหมอนนั้นไม่เท่ากัน โดยให้หมอนที่มีขนาดเล็กอยู่ข้างหน้าหมอนที่มีขนาดใหญ่กว่า ให้ความรู้สึกที่แตกต่าง ไม่ซ้ำซากจำเจ แสดงถึงบุคลิกการแต่งบ้านไม่ยึดติดกับแบบแผน เหมาะสำหรับการวางในห้องนั่งเล่นหรือห้องรับแขก ส่งเสริมบรรยากาศห้องให้ดูมีความทันสมัย แตกต่างมีความเป็นตัวของตัวเองสูง


แบบที่ 6  Queen Style

เหมาะสำหรับห้องที่มีโซฟา 3 ที่นั่งขึ้นไป ใช้หมอน 5 ใบ ที่มีขนาดเล็กใหญ่ต่างกัน โดยมากหมอนใบเล็กจะมีขนาด 18″ เป็นสีอ่อนกว่าตัวโซฟา และหมอนใบใหญ่จะมีขนาด 20″ ที่มีสีสันใกล้เคียงกับตัวโซฟา  และหมอนใบเล็กยาวขนาด 18″x 12″ ที่มีสีสันแตกต่างกันออกไป การวางหมอนแบบสมดุลกันทั้งซ้ายและขวา โดยให้หมอนที่มีขนาดเล็กอยู่ข้างหน้าหมอนที่มีขนาดใหญ่กว่า ให้ความรู้สึกเรียบง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็ดูเป็นทางการ เหมาะสำหรับการวางในห้องรับแขก ส่งเสริมบรรยากาศห้องให้ดูมีความเป็นทางการ และหรูหรา


แบบที่ 7  King Style

เหมาะสำหรับห้องที่มีโซฟา 3 ที่นั่งขึ้นไป ใช้หมอน 5 ใบ ที่มีขนาดเล็กใหญ่ต่างกัน โดยมากหมอนใบเล็กจะมีขนาด 18″ เป็นสีอ่อนกว่าตัวโซฟา และหมอนใบใหญ่จะมีขนาด 20″  ที่มีสีสันใกล้เคียงกับตัวโซฟา  และหมอนใบใหญ่สุดจะมีขนาด 22″ ที่มีสีสันแตกต่างกันออกไป การวางหมอนแบบสมดุลกันทั้งซ้ายและขวา โดยให้หมอนที่มีขนาดเล็กอยู่ข้างหน้าหมอนที่มีขนาดใหญ่กว่า และหมอนใบใหญ่ที่สุดวางกึ่งกลางโซฟาด้านหลัง ให้ความรู้สึกสมดุล เหมาะสำหรับการวางในห้องรับแขก ส่งเสริมบรรยากาศห้องให้ดูมีความเป็นทางการและหรูหรา


แบบที่ 8  Crown Style

เหมาะสำหรับห้องที่มีโซฟา 3 ที่นั่งขึ้นไป ใช้หมอน 6 ใบ ที่มีขนาดเล็กใหญ่ต่างกัน โดยมากหมอนใบเล็กจะมีขนาด 18″ เป็นสีอ่อนกว่าตัวโซฟา และหมอนใบใหญ่จะมีขนาด 20″ ที่มีสีสันใกล้เคียงกับตัวโซฟา และหมอนใบใหญ่สุดจะมีขนาด 22″ หมอนใบเล็กยาวขนาด 18″x 12″ ที่มีสีสันหรือมีลวดลายตัดกันกับตัวโซฟา เป็นแบบการวางหมอนที่นิยมกันมากที่สุดสำหรับบ้านขนาดใหญ่ โรงแรม 5 ดาว การวางหมอนแบบสมดุลกันทั้งซ้ายและขวา โดยให้หมอนที่มีขนาดเล็กอยู่ข้างหน้าหมอนที่มีขนาดใหญ่กว่า และหมอนใบใหญ่ที่สุดวางกึ่งกลางโซฟาด้านหลัง พร้อมหมอนใบเล็กยาววางด้านหน้าสุดของชุดหมอน ให้ความรู้สึกสมดุล เหมาะสำหรับการวางในห้องรับแขก ล็อบบี้โรงแรม 5 ดาว ส่งเสริมบรรยากาศห้องให้ดูมีความปราณีต บรรจง หรูหรา มีรสนิยมแบบชนชั้นสูง


แบบที่ 9  Royal Style

คล้ายกับแบบ Crown Style เพียงสลับให้หมอนใบใหญ่สุดในชุด มี 2 ใบจัดอยู่ที่ซ้ายและขวาแบบสมดุลกันและใบถัดลงมาจัดอยู่ในตำแหน่งตรงกลางแทน ให้ความรู้สึกสมดุล  เหมาะสำหรับการวางในห้องรับแขก ล็อบบี้โรงแรม 5 ดาว ส่งเสริมบรรยายกาศห้องให้ดูมีความปราณีต บรรจง หรูหรา มีรสนิยมแบบชนชั้นสูง เช่นกัน

สัญลักษณ์ Made in green

สัญลักษณ์ Made in green

ฉลาก “Made in Green” ได้รับการจัดการโดย OEKO-TEX ซึ่งเป็นระบบการทดสอบและรับรองอิสระสำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอ OEKO-TEX มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และดำเนินงานในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก องค์กรก่อตั้งขึ้นในปี 2535 โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิตสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม

ฉลากไม่เพียงแต่ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังให้ความโปร่งใสเกี่ยวกับกระบวนการผลิตอีกด้วย สิทธิ์การได้รับฉลาก “Made in Green” ผลิตภัณฑ์สิ่งทอต้องผ่านเกณฑ์ที่เข้มงวดที่เกี่ยวข้องกับการผลิต เช่น การใช้เทคนิคการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สภาพการทำงานที่ปลอดภัยและเป็นธรรมสำหรับคนงาน และการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน ฉลากยังกำหนดให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของประเทศที่ผลิตผลิตภัณฑ์

โดยรวมแล้ว ฉลาก “Made in Green” เป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าสำหรับผู้บริโภคที่สนใจซื้อผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคม

สัญลักษณ์ Teflon

Teflon Fabric Protector

DuPont Teflon Fabric Protector ผลิตภัณฑ์ จากบริษัท DuPont บริษัทอเมริกัน ก่อตั้งขึ้นในปี 2345 ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท ผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของบริษัท ได้แก่ เส้นใย nylon, เส้นใย Kevlar, Tyvek, และ Teflon

Teflon Fabric Protector เป็นสเปรย์ฉีดที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องผ้าจากการหก คราบสกปรก และความเสียหายจากน้ำ การรักษาจะสร้างเกราะป้องกันรอบเส้นใยของผ้า ทำให้ทนต่อของเหลวและคราบน้ำมันได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่าฟลูออโรโพลิเมอร์ สามารถป้องกันผ้าของคุณจากสิ่งสกปรก และของเหลวต่างๆ เช่น นํ้า กาแฟ ไวน์ ฯลฯ ได้เป็นอย่างดี เมื่อของเหลวนั้นถูกพื้นสัมผัสของผ้าที่เคลือบด้วยสาร Teflon ของเหลวนั้นจะจับตัวกันเป็นเม็ดกลมคล้ายนํ้าที่กลิ้งอยู่บนใบบัว ง่ายต่อการทำความสะอาด ได้ง่ายด้วยน้ำและสบู่อ่อนๆ และเป็นการช่วยยืดอายุการใช้งานของผืนผ้าได้อีกด้วย

DuPont Teflon Fabric Protector มักใช้กับเสื้อผ้า เบาะ และอุปกรณ์กลางแจ้ง เช่น เต็นท์และเป้สะพายหลัง โปรดทราบว่าการบำบัดไม่ได้ทำให้ผ้ากันน้ำ แต่สามารถกันน้ำได้ ซึ่งหมายความว่าแม้ว่าผ้าจะกันน้ำได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ในที่สุดผ้าก็จะดูดซับน้ำหากสัมผัสกับผ้าเป็นระยะเวลานาน