fbpx

การวัดหน้าต่างหรือประตูที่ถูกต้องและสะดวก

มาวัดหน้าต่างหรือประตู เพื่อการคำนวนผ้าม่านง่ายๆ กันเถอะ

คงเป็นเรื่องง่ายขึ้น หากเราสามารถวัดขนาดหน้าต่างหรือประตูด้วยตัวเราเอง ก่อนที่จะไปร้านผ้าม่าน เพื่อช่วยในการลดระยะเวลาที่ช่างต้องมาวัดขนาดที่บ้านของเรา และช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย โดยมีการวัด และการเลือก มีดังนี้

A : ขนาดความกว้างของหน้าต่าง หรือประตู รวบวงกบ
B :  ขนาดความสูงของหน้าต่าง หรือประตู รวบวงกบ
C : ขนาดความสูงของขอบบนวงกบหน้าต่าง หรือประตู ถึงพื้น
D : ขนาดความสูงจากพื้นถึงเพดาน

และเมื่อเราวัดขนาดเสร็จแล้ว ต่อไปคือการเลือกรายละเอียดต่างๆ ของม่าน เช่น

ประเภทของรางม่าน 1) รางโชว์ 2) รางไมโคร ผนัง, เพดาน 3) รางไมโครล๊อคลอนผนัง หรือเพดาน

รูปแบบการเย็บของผ้าม่าน เช่น  1) ม่านตาไก่ 2) ม่านคอกระเช้า 3) ม่านสามจีบ 4) ม่านลอน S หรือล๊อคลอน 5) ม่านโรมัน

รูปแบบการเปิดม่าน 1) ม่านเปิดด้านเดี่ยว ระบุซ้ายหรือขวา 2) ม่านคู่ แยกกลาง

ระดับความสูง 1) ม่านยาวลอยจากระดับวงกบล่าง 20 ซม 2)  ม่านยาวถึงระดับพื้นโดยปกติจะลอย จากพื้น 1-5 ซม


ผ้า Outdoor Membrane ดีกว่าอย่างไร

Outdoor Membrane Fabric

หมดปัญหาผ้าเปื้อนแล้ว ซึมลงเบาะ หรือหมอน ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ผ้า Outdoor Membrane by Nitas Tessile

เทคโนโลยีที่ปกป้อง เฟอร์นิเจอร์ของคุณถึง 3 ชั้นในผ้าตัวเดียว คือ

  1. ชั้นที่หนึ่ง Water Repellent การสะท้อนน้ำ ช่วยลดการเปื้อนจากสิ่งสกปรก และน้ำได้เหมือน น้ำกลิ้งบนใบบัว
  2. ชั้นที่สอง Easy-Clean Special Yarn เส้นใยชนิดพิเศษเมื่อได้รับสิ่งสกปรกแล้วสามารถใช้เพียงน้ำเปล่าเช็ดถูทำความสะอาดได้
  3. ชั้นที่สาม Membrane Layer ชั้นฟิล์มบางสีขาว ที่ประกบอยู่หลังเนื้อผ้า เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกแม้แต่ของเหลว เช่น น้ำ กาแฟ ไวน์ ฯลฯ ไม่สามารถผ่านทะลุไปถึงชั้นที่เป็นเบาะ หรือหมอนได้ และสามารถระบายอากาศ

ด้วย 3 คุณสมบัติที่กล่าวมา ผ้า Membrane By Nitas Tessile จึงเป็นทางเลือกหลัก สำหรับโรงแรมหรือรีสอร์ทที่มีส่วนของเฟอร์นิเจอร์เอาท์ดอร์, บ้านที่มีลูกน้อยวัยซนที่ชอบขีดเขียน, บ้านที่เลี้ยงสุนัข, พื้นที่ต้อนรับในโรงแรมที่ต้องต้อนรับแขกจำนวนมาก, เฟอร์นิเจอร์ในห้องอาหาร หรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆ

ซึ่งคุณสามารถหาผ้าที่ดังกล่าวของผ้า NITAS TESSILE ได้ง่ายๆ จากการสังเกต
สัญลักษณ์  ดังรูปด้านล่างนี้

ดูเนื้อผ้าที่มีคุณสมบัติ Membrane Layer

ทำไมผ้าถึงเป็นขน ? มารู้จักกับ ‘Pilling’ กันเถอะ

Pilling คือขนของผ้าที่ม้วนตัวกันเป็นก้อน เกิดจากการเสียดสีจากการใช้งานบริเวณนั้น อาจเกิดเป็นบริเวณ หรือเป็นทั้งผืนก็เป็นได้ จากการใช้งานเป็นเวลานานๆ และอีกปัจจัยที่สำคัญคือชนิดของเส้นด้ายที่เรียกว่า ด้าย Spun เป็นด้ายที่เกิดจากเส้นใยขนาดสั้น นำมาปั่นเกลียวกันเป็นเส้นด้าย จุดประสงค์คือ เพื่อต้องการผืนผ้าที่มีความนุ่มฟู ให้สัมผัสที่ดีในการใช้งาน แต่ผ้าเหล่านั้นเมื่อผ่านการใช้งานมาระยะหนึ่ง จะเกิดการคลายตัวของเกลียวเส้นดาย จนหลุดและยื่นส่วนปลายออกมา เมื่อมีการเสียดสีจะเกิดเป็นก้อนขนกลมที่ผืนผ้านั้นเอง

สำหรับผ้าที่ทำมาจากเส้นใยธรรมชาติ เส้นใยสั้น หรือ Spun Yarn เช่น ฝ้าย การเกิด Pilling หรือก้อนขนนี้ ส่วนใหญ่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมักจะหลุดออกไปตามการใช้งาน หรือตอนซักผ้า  เป็นต้น แต่ก็จะมีผ้าบางชนิดที่เมื่อเกิด Pilling แล้วจะไม่หลุดไปเอง คือผ้าที่เป็นเส้นใยผสมระหว่างเส้นใยสังเคราะห์ และเส้นใยธรรมชาติ ที่เห็นส่วนใหญ่ คือผ้าที่ผสมระหว่าง Polyester และ Cotton กล่าวคือ เมื่อเส้นใยเริ่มหลุดออก โดยเส้นใยโพลีเอสเตอร์จะมีความคงทนสูง และไม่หลุดออกจากเส้นโดยง่าย มาผสมกับเส้นใยฝ้ายที่หลุดออกมาได้ง่าย ทำให้เกิดการพันกันเป็นก้อน และไม่หลุดออกเองตามธรรมชาติ รวมถึงผ้าที่ทำมากจากเส้นใยสังเคราะห์ทั้งผืนที่ผลิตจากเส้นใยสั้นอีกด้วย

โดยทั่วไปแล้วผ้าที่ไม่ต้องการความคงทนอะไรมากนักอย่างเสื้อผ้า ส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้มีการทดสอบ Pilling Resistance ความทนต่อการขึ้นขน/เม็ด

คุณรู้จัก ‘ผ้าเอาท์ดอร์ (Outdoor Fabrics) หรือไม่ ?

Outdoor Fabrics จากชื่อก็บ่งบอกอยู่แล้ว ‘ผ้าเอาท์ดอร์’ คือผ้าที่เหมาะสำหรับการใช้งานกลางแจ้ง เช่น ร่มชายหาด, เตียงผ้าใบริมสระว่ายน้ำ หรือเบาะที่นั่งนอกอาคารที่โดนแดด

คุณสมบัติหลักของผ้าเอาท์ดอร์ส่วนใหญ่ คือกผ้าสามารถใช้งานในที่กลางแจ้งได้ มีความคงทนต่อการซีดจางของสี (Color Light Fastness) ที่มักนิยมเรียกกันว่า สีจาง หรือแดดเลีย ส่วนใหญ่ผ้าที่เราเห็นกันในท้องตลาดจะเป็นผ้าจากเส้นใยอะคริลิค (Acrylic) และโอเลฟิน (Olefins) ซึ่งเส้นใยทั้งสองชนิด มักจะเป็นการใส่สีลงไปตั้งแต่ขั้นตอนการฉีดเส้นใย ก่อนการตีเกียวเป็นเส้นด้าย ไม่ได้ผ่านการย้อมสีผ้าแบบปกติที่เราคุ้นเคย ด้วยกระบวนการดังกล่าวจึงทำให้ผ้าทั้งสองชนิดมีความคงทนของสีต่อแสงมาก ไม่ซีดจางเร็ว ซึ่งผ้าทั้งสองตัวนี้มีความแตกต่างกันตรงที่ผ้าที่มาจากโอเลฟิน เป็นโพลิเมอร์ที่มีจุดหลอมเหลวต่ำ ฉะนั้นจึงไม่สามารถรีดในอุณหภมิสูงได้ แต่มีข้อดีคือน้ำหนักที่เบากว่า และราคาที่ถูกกว่า นอกจากนั้นยังมีเส้นใยจากโพลีเอสเตอร์อีกชนิดหนึ่ง แต่คุณสมบัติด้านการคงทนต่อการซีดจางต่อแสงจะน้อยกว่าเส้นใยทั้งสองที่กล่าวมา เพราะใช้การย้อมสี และการตกแต่งสำเร็จ (Finishing) ในขั้นตอนสุดท้ายใส่สารเพื่อเพิ่มความคงทนต่อแสงเข้าไปในขั้นตอนการผลิต ก็จะได้คุณสมบัตินั้นเช่นกัน แต่จะมีประสิทธิลดลงหลังจากการซัก

ส่วนคุณสมบัติอื่นเพิ่มเติม เช่น การกันน้ำ หรือความจริงต้องเรียกว่า การสะท้อนน้ำ (Water Repellent), ความคงทนของสีจากคลอรีน, การป้องกันเชื้อรา (Anti-fungal), การเช็ดล้างได้ง่าย (Easy Clean) เป็นคุณสมบัติเพิ่มเติมเข้าไปจากคุณสมบัติหลักของผ้าเอาท์ดอร์

วิธีการดูแลรักษาผ้าคือ แม้จะเรียกว่าผ้าเอาท์ดอร์ แต่ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้กลางแจ้ง ขณะฝนตก เนื่องจากผ้าจะมีการตกแต่งพิเศษแบบกันเชื้อราก็ตามแต่วัสดุที่เป็นชั้นใน ไม่ได้มีคุณสมบัติพิเศษใดๆ ซึ่งจะทำให้เกิดเชื้อราสะสมภายใน ลามออกมาถึงผ้าได้ด้วย และเป็นต้นเหตุของกลิ่นอันไม่พึ่งประสงค์นั้นเอง


คุณสามารถทราบถึงคุณสมบัติดังกล่าวของผ้า NITAS TESSILE ได้ง่ายๆ จากการสังเกตุสัญลักษณ์ดังรูปด้านล่างนี้

ดูผ้าเนื้อ OUTDOOOR ทั้งหมดได้ที่นี้ คลิก!!!

ดูเล่มตัวอย่างผ้า OUTDOOR ได้ที่นี้ คลิก!!!

ดูแผ่นพับตัวอย่างผ้า OUTDOOR ได้ที่นี้ คลิก!!!


สัญลักษณ์ Oeko-Tex Standard 100

Oeko-Tex Standard 100
การรับรองคุณภาพมาตรฐาน

สัญลักษณ์ OEKO-TEX Standard 100 คือ สัญลักษณ์ที่ให้กับผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ระดับสากล จากสถาบันทดสอบสิ่งทอ (The International Association for Research and Testing in the Field of Textile Ecology : OEKO) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเชื่อมั่น และไว้วางใจ โดยเป็นที่ยอมรับกันระดับสากลว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบสิ่งที่ไม่เป็นอันตราย สารตกค้างในผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เช่น เส้นด้าย หรือผ้า รวมถึงผลิตภัณฑ์สิ่งทอต่างๆ โดยใช้การทดสอบทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับการยอมรับทั่วโลกสำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอซึ่งรับประกันว่าปราศจากสารที่เป็นอันตราย เปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ. 1992 และตั้งแต่นั้นมาก็กลายเป็นหนึ่งในใบรับรองที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมสิ่งทอ การรับรองแบ่งออกเป็นสี่ประเภทผลิตภัณฑ์ ตามวัตถุประสงค์การใช้งานของผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และแต่ละประเภทมีเกณฑ์การทดสอบเฉพาะ สี่ประเภทผลิตภัณฑ์คือ

  • Product Class I: ผลิตภัณฑ์สิ่งทอสำหรับทารกและเด็กเล็กอายุไม่เกิน 36 เดือน เช่น เสื้อผ้า เครื่องนอน และของเล่น
  • Product Class II: ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่สัมผัสผิวหนังโดยตรง เช่น ชุดชั้นใน เสื้อยืด และถุงเท้า
  • Product Class III: ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ไม่สัมผัสผิวหนังโดยตรง เช่น แจ็กเก็ต เสื้อโค้ท และเสื้อผ้าชั้นนอกอื่นๆ
  • Product Class IV: วัสดุตกแต่ง เช่น ผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ และผ้าบุนวม

การได้รับการรับรอง OEKO-TEX Standard 100 ผลิตภัณฑ์สิ่งทอต้องผ่านการทดสอบอย่างเข้มงวดโดยห้องปฏิบัติการอิสระที่ได้รับการรับรองโดย OEKO-TEX เกณฑ์การทดสอบได้รับการปรับปรุงทุกปีเพื่อให้แน่ใจว่าสอดคล้องกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดและข้อกำหนดด้านกฎระเบียบ

การรับรอง OEKO-TEX Standard 100 ช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ซื้อนั้นปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ผลิตสิ่งทอมีความได้เปรียบในการแข่งขันโดยแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อความยั่งยืนและแนวทางปฏิบัติในการผลิตที่มีความรับผิดชอบ

ผลิตภัณฑ์จากผืนผ้าในกลุ่มสำหรับตกแต่งที่อยู่อาศัย เช่น พรม, ผ้าม่าน, ผ้าบุเฟอร์นิเจอร์, ผ้าปูโต๊ะ ฯลฯ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกจัดอยู่ใน Product Class IV : Decoration Material โดยโรงงานผู้ผลิตที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้สัญลักษณ์ OEKO-TEX Standard 100 บนผลิตภัณฑ์ได้ ต้องผ่านการทดสอบอย่างเข้มงวด ทั้งในด้านกระบวนการผลิต และทางด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ จึงมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ปรากฎสัญลักษณ์ OEKO-TEX Standard 100 เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และปลอดภัยจากสารพิษ สำหรับทุกชีวิตที่คุณรัก

คุณสามารถหาผ้าดังกล่าวจากผ้า NITAS TESSILE ได้ง่ายๆ จากการสังเกต
สัญลักษณ์ OEKO-TEX Standard 100 ดังรูปด้านล่างนี้




ผ้าที่ได้รับมาตรฐาน OEKO-TEX คลิก!!!

เล่มตัวอย่างที่ผ่านมาตรฐาน OEKO-TEX คลิก!!!

ทิศทางของลายผ้า ทำไมต้องรู้ ?

ในการตัดเย็บผ้าม่าน สิ่งที่สำคัญมากคือการวางทิศทางของลายผ้าให้ถูกต้อง เพื่อการตัดเย็บที่สวยงาม และลายผ้าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งยังสะดวกต่อผู้ใช้งานในการตัดสินใจซื้อ  และสะดวกในการทำงานของช่างในการตัดเย็บผ้าม่าน

ผ้าม่านและผ้าบุเฟอร์นิเจอร์จะมีทิศทางการใช้ผ้าที่แตกต่างกัน เช่น ผ้าหน้า 140 ซม. เวลาต่อผ้าจะต่อในแนวริมผ้า ถ้าทิศทางของผ้าเป็นลายตั้ง (ริมผ้าอยู่ทางซ้าย-ขวา) ม่านจะได้ลายเป็นลายแนวตั้งเช่นกัน หากผ้าเป็นผ้าหน้ากว้าง 280-300 ซม. ลายเป็นแนวตั้ง (ริมผ้าอยู่ทางซ้าย-ขวา) ซึ่งผ้าหน้ากว้างเวลาใช้งานนิยมกลับผ้าใช้โดยไม่ต่อผ้า ให้ริมผ้าอยู่ด้านบนและขอบหน้าต่าง ฉะนั้นลายผ้าที่ได้ออกมาจะเป็นแนวนอน เมื่อม่านติดตั้งสำเร็จ

ในกรณีผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ มักจะมีแต่ผ้าหน้าปกติ โดยปกติแล้วในการบุเฟอร์นิเจอร์มักจะกลับผ้าโดยริมผ้าจะอยู่แนวบนล่าง เพราะเฟอร์นิเจอร์จำพวกโซฟามักมีความยาวเกินกว่าหน้าผ้าที่จะห่อหุ้มได้ ฉะนั้นจึงนิยมกลับผ้าเพื่อให้ได้ความยาวตลอดตัวโซฟา หรือจะต่อผ้าเป็นตะเข็บตรงกลางเหมือนสไตล์โซฟาหนัง โดยมีการจำกัดของความกว้างวัสดุก็ทำได้เช่นกัน

ฉะนั้นหากจะเลือกซื้อผ้าม่าน ผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ ควรดูว่าเป็นผ้าหน้ากว้าง หรือหน้าปกติ และดูทิศทางของลายผ้า เพื่อการตัดสินใจที่ไม่ผิดพลาด โดยในแคตตาล็อกของเรามีสัญลักษณ์กำกับ โดยดูจากรูปไว้เพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจซื้อ


‘Dual Purpose’ บุก็ได้ ม่านก็ดี

การเลือกผ้าม่านและผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญในการตกแต่งบ้าน  ทั้งประโยชน์ในการใช้สอย และยังช่วยสร้างอารมณ์ และบรรยากาศของบ้านให้น่าอยู่อบอุ่นมากยิ่งขึ้น สีสันของผ้าและลวดลายสะท้อนรสนิยมของเจ้าของบ้านได้เป็นอย่างดี ในที่นี้เราจะมาพูดถึงผ้าประเภท Dual Purpose ซึ่งสามารถตอบโจทย์ในการแต่งบ้านได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผ้า Dual Purpose สามารถนำมาใช้เป็นทั้งผ้าม่านและผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ได้ในคราวเดียวกัน ซึ่งหากมองดูเผินๆ ก็จะมีลักษณะเหมือนผ้าม่านทั่วไป แต่หากพูดถึงคุณสมบัติของเนื้อผ้าในการใช้งานในรูปแบบของผ้าบุเฟอร์นิเจอร์แล้ว สามารถนำไปบุเฟอร์นิเจอร์ได้ เนื่องจากมีคุณสมบัติด้าน RubTest (ความแข็งแรงที่ทนต่อการเสียดสี) เทียบเท่ากับผ้าบุเฟอร์นิเจอร์เช่นกัน โดยลักษณะของผ้า Dual Purpose จะมีความพริ้วบางเหมือนผ้าม่านแต่มีความทนทานต่อการเสียดสีได้มาก เหมาะแก่การนำมาใช้เป็นทั้งผ้าม่านและผ้าบุเฟอร์นิเจอร์

สำหรับเราแล้ว คุณสามารถสังเกตสัญลักษณ์ง่ายๆ เมื่อคุณเลือกซื้อผ้าม่านหรือ ผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ กับบริษัท นิทัส เทสซิเล จำกัด ตามตัวอย่างข้างล่างนี้

ดูผ้าม่านก็ได้บุก็ดีได้ที่นี้ คลิก!!!


ผ้าที่ใช้ได้ทั้งหน้า และหลังมีด้วยเหรอ ?

ผ้าที่ใช้ได้ทั้งหน้า และหลัง Revers-able fabric  ในกระบวนการทอผ้าทั้งในแบบ Dobby และ Jacquard ที่ทำเทคนิคให้เกิดลวดลายที่สวยงามกับผืนผ้า บางครั้งสามารถสร้างสรรค์ลวดลายทั้ง 2 ด้านสลับกัน สามารถเลือกได้ทั้ง 2 ด้านว่าชอบน้ำหนักของด้านใดมากกว่ากัน เช่น ถ้าเราใช้เส้นด้ายสองชนิด ด้านหนึ่งเป็นพื้นผิวด้านตัวลายเป็นมันเงา กลับอีกด้านก็จะเป็นพื้นผิวมันเงาและตัวลายด้าน เป็นต้น โดยความสวยงามทั้งสองด้านขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าชอบด้านใดมากกว่ากัน หรือเป็นผ้าที่มีการทอแบบพิเศษที่หน้าผ้าและหลังผ้าให้บุคคลิกที่แตกต่างกันออกไป เหมือนซื้อผ้า 1 ครั้งได้ผ้าถึง 2 ผืนเลยที่เดียว

สำหรับเราแล้ว คุณสามารถสังเกตสัญลักษณ์ง่ายๆ เมื่อคุณเลือกซื้อผ้าม่าน กับเรา
บริษัท นิทัส เทสซิเล จำกัด ตามตัวอย่างข้างล่างนี้


Dim-Out VS Blackout

ก่อนจะมาเปรียบกัน ว่าใครดีกว่าใคร เรามาดูความแตกต่างกันก่อนว่า ผ้าม่านกันแสง Dim-Out และผ้าม่านทึบแสง Blackout มีคุณสมบัติแตกต่างกันอย่างไร

  • ผ้าม่านกันแสง หรือผ้าม่านดิมเอาท์ (Dim Out Curtain) เป็นผ้าม่านที่มีคุณสมบัติกันแสง หรือที่นิยมเรียกกันว่า ‘ผ้าม่าน UV’ ผ้าดิมเอาท์นี้แสงสามารถรอดผ่านน้อยกว่า 20% ไม่สามารถมองเห็นวิวด้านหลังผ้า ขนาดกว้างโดยขนาดประมาณ 135-320 ซม. เป็นผ้าม่านที่ทอแบบพิเศษ โดยเป็นผ้า 3 ชั้น จะมีเส้นด้ายสีดำทออยู่ระหว่างชั้นผ้าเหมือนแซนวิช ซึ่งด้ายดำนี้ทำให้ผ้าดิมเอาท์มีคุณสมบัติกันแสงได้มากกว่าผ้าม่านปกติ จากลักษณะการทอพิเศษดังกล่าว จึงทำให้ผ้าดิมเอาท์มีคุณสมบัติการกันรังสี UV มากกว่าผ้าม่านปกติทั่วไป เนื่องจากเส้นด้ายสีดำนั้นมีคุณสมบัติการดูดซับรังสี UV มากกว่าสีอื่นๆ จึงทำให้ผ้าดิมเอาท์มีคุณสมบัติป้องการรังสี UV เข้าสู่ห้องของคุณ แม้ว่าสีผ้าจะไม่ใช่สีดำ แต่มีการทอสอดด้ายสีดำไว้ระหว่างขั้นของผ้า ผ้าดิมเอาท์ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นเรียบ หากเป็นลวดลายจะเป็นลวดลายที่ส่วนใหญ่ใช้เทคนิค การปั๊มลาย Embossing, การพิมพ์ลาย Printing, หรือทอลายที่เป็นเทกเจอร์เล็กน้อย หลังผ้าทอด้วยลายทอต่วน (Satin) เพื่อความเรียบเนียบ และลดการขัดกันของด้ายยืน และด้ายพุ่งให้มากที่สุดเพื่อลดช่องว่างที่จะทำให้แสงรอดผ่าน ไม่นิยมทอลายด้วยลายทอแจคการ์ด (Jacquard) เพราะในระหว่างช่วงลายจะทำให้มีช่องว่างให้แสงรอดผ่านได้ 
  • เหมาะสำหรับห้องที่ไม่ต้องการแสง หรือแสงรบกวนในตอนเช้า เช่น ห้องนอน หรือห้องนอนโรงแรม แต่ไม่นิยมกับห้องที่ต้องการการกรองแสงลดส่วนหนึ่ง และปิดบังทัศนียภาพ เมื่อยามจำเป็นที่ต้องการความส่วนตัว เช่น ห้องทานข้าว หรือห้องนั่งเล่น

  • ผ้าม่านทึบแสง หรือผ้าม่านแบรคเอาท์ (Black Out Curtain) คือผ้าม่านที่มีความทึบแสง 100% แสงไม่สามารถลอดผ่านเลยแม้กระทั่งผ้าม่านเป็นสีขาวก็ตาม และไม่สามารถมองเห็นวิวด้านหลังผ้า ขนาดกว้างโดยประมาณ 135-150 ซม. ไม่นิยมเป็นผ้าหน้ากว้าง ที่กว้างอยู่ราวๆ 280-320 ซม. เพราะอุปสรรคด้านการขนส่งที่ไม่นิยมพับ เป็นผ้าม่านที่ทอแบบปกติทั่วไปทั้งมีลวดลาย และไม่มีลวดลาย แต่จะมีเคลือบด้านหลังผ้าด้วย ส่วนใหญ่จะเคลือบ 3 ชั้น และ 4 ชั้น ในกรณีของการเคลือบด้วยโฟมสีขาว (Foam Coating) ชั้นบนสุดและโฟมสีดำแทรกในชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ของผ้าจะเป็นการเคลือบด้วยโฟมสีขาวดังกล่าว หรือในกรณีของการเคลือบด้วยซิลิโคน จะเป็นการเคลือบชั้นที่ 4 ด้วย Silicone เป็นชั้นสุดท้าย การเคลือบโฟมและซิลิโคน มีคุณสมบัติในการกันแสงสว่างเข้ามาภายในห้องถึง 100%
  • เหมาะสำหรับห้องที่ไม่ต้องการแสง หรือแสงรบกวนในตอนเช้า เช่น ห้องนอนโรงแรม, โฮมเทียเตอร์, ห้องที่โดนแดดช่วงบ่าย เป็นต้น

ส่วนผ้าชนิดไหนจะดีกว่ากันก็ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์การนำไปใช้ ในห้องที่เหมาะสม เช่นผ้าม่านกันแสง Dim-out สามารถกันแสงได้เฉลี่ย 85% แต่เปอร์เซ็นต์การกันแสงนี้จะขึ้นอยู่กับสีของผ้าด้วยเช่นสีอ่อนๆ สีขาวความสามารถก็จะลดลงต่ำกว่า 85% ส่วนถ้าเป็นสีเข้มๆ สีดำ ก็จะกันแสงได้มากกว่า85% เช่นกัน แต่ยังให้ความรู้สึกเป็นผ้านุ่มเข้าลอนได้ดีตามแบบผ้าม่านปกติ ส่วนผ้าทึบแสง Blackout กันแสงได้ 100% ไม่มีผลกับสีของผ้าไม่ว่าจะเป็นผ้าสีขาวก็ตาม เพราะด้วยการเคลือบดังกล่างข้างต้น ซึ่งก็จะส่งผลทำให้ผ้ามีความไม่กระด้างเล็กน้อยด้วยเช่นกัน

ผ้าม่านทั้ง 2 ประเภทนี้ ยังสามารถป้องกันความร้อนและดูดซับรังสี UV ที่จะส่องผ่านเข้ามาภายในห้อง ช่วยประหยัดพลังงานจากการใช้เครื่องปรับอากาศ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ผ้าม่าน Dim-out และ Black out เหมาะกับทุกห้องภายในบ้าน โดยเฉพาะห้องนอน และห้องโฮมเธียเตอร์ นอกจากนั้นออฟฟิตสำนักงาน และโรงแรมต่างๆ ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน


คุณสามารถทราบถึงคุณสมบัติดังกล่าวของผ้า NITAS TESSILE ได้ง่ายๆ จากการสังเกตุสัญลักษณ์ ดังรูปด้านล่างนี้

ดูเล่มตัวอย่างผ้าม่านกันแสง (Dim-out) คลิก

ดูเล่มตัวอย่างผ้าม่านทึบแสง 100% (Blackout) คลิก

ดูแผ่นพับตัวอย่างผ้าม่านกันแสง (Dim-out) คลิก

ดูเนื้อผ้าม่านกันแสง (Dim-out) คลิก

ดูเนื้อผ้าม่านทึบแสง 100% (Blackout) คลิก